วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ยกขบวนแห่ "ผีขน" ร่วมประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน อ.เมืองปาน

 

วันที่ 22 พ.ค.2567 ตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปฏิทินทางล้านนา เดือน 8 ออก 15 ค่ำ หรือเรียกกัน  8 เป็ง  

วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน  ม.5 ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง  ได้จดประเพณีสรงน้ำพระธาตุฯ  พร้อมการละเล่น ผีขนหรือผีตาโขน ของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อน โดยในปีนี้มีผีขนเข้าร่วมขบวนถึง 35 ตัว ด้วยกัน   เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษจนมาถึงลูกหลานยุคปัจจุบัน ถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวบ้านหลวงแจ้ซ้อน ที่มีมาแต่ช้านาน




        การละเล่นพื้นบ้าน ผีขนมีการเล่นที่มีมานานกว่า 100 ปี โดยจะเล่นในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวันศรีหลวงแจ้ซ้อน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (เหนือ) หรือประเพณีแปดเป็งของชาวเหนือ การละเล่นพื้นบ้านผีขนเกิดจากความเชื่อที่ว่า ผู้ที่หน้าตาไม่ดีไม่หล่อ ไม่งาม ไม่มีคนรัก คนชอบ ถ้าได้ร่วมเล่นผีขนแล้ว เกิดชาติหน้าจะมีเป็นคนหน้าตาดี มีคนรักคนชอบ และเป็นสิริมงคลกับชีวิต 

            วิธีการเล่นผีขนในยุคอดีต ผู้เล่นจะต้องนำชุดผีขนที่เตรียมไว้ไปทำพิธีในป่าช้า เพื่อเชิญดวงวิญญาณของผู้ตายที่ผู้ตายต้องการเข้าทรงร่างผีขน โดยต้องมีหมาก 1 คำ พลู 1 ใบ กล้วย 1 ลูก ข้าว 1 ปั้น เป็นเครื่องอัญเชิญดวงวิญญาณ เมื่อดวงวิญญาณได้เข้าทรงหัวผีขนแล้ว หากได้ยินเสียงฆ้อง กลอง เพื่อร่ายรำ หลอกหล่อน และหยอกล้อ กับผู้คนที่ไปร่วมในขบวนแห่ครัวตานของ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุฯ



        สำหรับชุดผีขนส่วนใหญ่จะใช้ผ้าจีวรของพระสงฆ์ใหญ่มีตัดแต่งให้คลุมได้ทั้งร่างโดยจะใช้น้ำมันเครื่องหรือถ่านมาชะโลมให้ดูเปรอะเปื้อนแล้วประดับด้วยดอกไม้และใบไม้ ส่วนท่อนหัวจะนำตะกร้าไม้ไผ่มาห่อหุ้มด้วยฝอยมะพร้าว ก่อนจะใช้ผ้าเหลืองเย็บทับแล้วแต่งใบหน้าให้เป็นตา จมูก ปาก และใบหู ก่อนจะนำสีมาวาดให้ชัดเจน สำหรับผีขนจะมีทั้งผีหน้าเดียว ผีสองหน้าและผีสามหน้า ซึ่งต้องใช้ตะกร้าตามจำนวนเพื่อทำหน้าผี  ส่วนศีรษะของผีขนจะมีการนำเส้นผมของคนที่ตัดแล้ว มาทากาวแปะติดกับหัวผีขน ซึ่งในอดีตอาจใช้เส้นผมของคนที่ตายแล้วมาติดแทน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ผีขนนั่นเอง  หลังการเล่นผีขนเสร็จ ผู้เล่นจะต้องเอาชุดผีขนไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในป่าช้า แล้วผู้เล่นต้องไปอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยที่แช่ไว้เพื่อชำระร่างกายป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาครอบงำ



ปัจจุบันการละเล่นพื้นบ้านผีขนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยผู้เล่นอาจจะแต่งชุดผีขนออกจากบ้าน ซึ่งเป็นการเล่นเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานเท่านั้น เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็จะนำชุดกลับไปเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อไว้ใช้ใหม่ในปีต่อไป และไม่ต้องอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อยชำระร่างกาย เพราะไม่ได้มีการอัญเชิญวิญญาณผีจากป่าช้ามาเข้าทรงร่างเหมือนเช่นอดีต

ที่มาข้อมูล สภ.แจ้ซ้อน




 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์