วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“ฮิวมิค” จากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมธุรกิจใหม่ กฟผ. ต้นแบบนำของเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด Circular Economy เหมืองแม่เมาะ เดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง


“ลีโอนาร์ไดต์” หรือชั้นดินปนถ่านมีค่าความร้อนต่ำจนไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ถูกวิจัยและพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าจากของเหลือทิ้งขยายผลจากการวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยการสกัดสารฮิวมิค สารปรับปรุงดินที่มีคุณภาพสูง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ปี 2567 โรงงานต้นแบบงานวิจัยสกัดสารฮิวมิคจากลีโอนาร์ไดต์ เพิ่มกำลังการผลิตเป็นปีละกว่า 420,000 ลิตร ไม่เพียงเท่านั้น ยังคงเดินหน้าความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมร่วมกับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ผลักดันนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกที่มีปริมาณความต้องการใช้สารฮิวมิคเพิ่มขึ้นปีละกว่า 10%

นายวิรัตน์ คำพรม หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเหมืองแม่เมาะ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดโลกปริมาณความต้องการใช้สารฮิวมิคจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า เติบโตค่อนข้างสูงเฉลี่ยปีละกว่า 10% ในขณะที่การใช้งานภายในประเทศก็คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี ผนวกกับ กฟผ.แม่เมาะ เองก็มีแหล่งวัตถุดิบลีโอนาร์ไดต์ในปริมาณกว่า 1.1 ล้านตัน ซึ่งศักยภาพนี้สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างเพียงพอในราคาที่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้

โดยปริมาณลีโอนาร์ไดต์ดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดจำหน่ายทั้งแบบลีโอนาร์ไดต์สำหรับเป็นวัตถุดิบให้วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นำไปผลิตเป็นวัสดุปรับปรุงดินแบบเม็ด ซึ่งมีปริมาณเสนอซื้อปีละประมาณ 10,000 ตัน ราคาจำหน่ายตันละ 250 บาท ซึ่งหากคิดตลอดอายุการทำเหมืองหรืออีกประมาณ 30 ปี จะสามารถจำหน่ายให้กับวิสาหกิจชุมชนรวมประมาณ 300,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 800,000 ตัน สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตเป็นสารฮิวมิคได้

นอกจากนี้ กฟผ.แม่เมาะ ยังได้จำหน่ายสารสกัดฮิวมิคแบบน้ำ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกในปี 2566 จำนวน 10,800 ลิตร ในขณะที่มีผู้ประสงค์เสนอซื้อจำนวนกว่า 26 ราย คิดเป็นปริมาณความต้องการซื้อกว่า 108,000 ลิตร อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดรับกับปริมาณความต้องการซื้อและเพื่อความเท่าเทียมในปี 2567 จึงแบ่งประเภท ผู้ซื้อออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ซื้อรายใหญ่ , วิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม และประชาชนทั่วไป โดยสามารถยื่นซื้อออนไลน์ผ่านช่องทางเว็ปไซต์ กฟผ. ได้เริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน กำหนดซื้อขั้นต่ำจำนวน 2,000 ลิตร ในราคาลิตรละ 35 บาท ซึ่งก็ได้รับความสนใจและได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก

ในขณะที่ศักยภาพการผลิตของโรงงานต้นแบบงานวิจัยสกัดสารฮิวมิคจากลีโอนาร์ไดต์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ กฟผ.เหมืองแม่เมาะ นั้นในปี 2567 ได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็นปีละ 420,000 ลิตร อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณความต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้นโรงงานต้นแบบนี้เองก็จะสามารถขยายกำลังการผลิตได้มากถึงปีละ 1,200,000 ลิตร

นายวิรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาศัยภาพของลีโอนาร์ไดต์ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ กฟผ.แม่เมาะ ยังคงเดินหน้าแสวงหาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมระหว่าง กฟผ. กับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2569 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา ส่งเสริม ต่อยอด ผลักดันนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจของนวัตกรรมจนนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้

ขณะนี้ ทีมวิจัยของไออาร์พีซี ได้ผลการทดลองเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ สกัดสารฮิวมิคแบบน้ำที่มีความเข้มข้นสูง และการผลิตฮิวมิคแบบเกล็ดแห้งความเข้มข้นสูงที่สามารถละลายน้ำได้ดี ซึ่งทีมนักวิจัยทั้งสองฝ่ายได้ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ฮิวมิคยังพบกรดฟูลวิค ที่มีศักยภาพนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น ส่วนผสมของเครื่องสำอาง ยา และอาหารเสริม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่และเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้นแบบของการนำวัตถุพลอยได้ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

“กฟผ. มีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ องค์ความรู้จากการวิจัย และมีโรงงานต้นแบบในการผลิตสารฮิวมิค ที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารปรับปรุงดินจากลีโอนาร์ไดต์ขึ้นรูปแบบเม็ดให้กับชุมชนโดยรอบ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ กระจายรายได้สู่ชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ผลิตและจำหน่ายสารฮิวมิคให้ผู้สนใจทั่วไปในราคาย่อมเยา ให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้

โดยง่าย ช่วยลดต้นทุนการผลิตพืชได้ ทั้งนี้ จากผลการวิจัยพบว่าการใช้สารฮิวมิคสามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 50% จึงสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ด้วย” นายวิรัตน์ กล่าว

คุณประโยชน์ของฮิวมิคของ กฟผ.แม่เมาะ ล่าสุด ยังได้รับรางวัลเหรียญเงินในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน 2567 ภายใต้ผลงาน “สารปรับปรุงดินกรดฮิวมิค กฟผ. ผลพลอยได้จากการทำเหมืองแร่ลิกไนต์” (EGAT Humic Soil Amendment: a by-Product of Lignite Mining) เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและการยอมรับจากเวทีประกวดและจัดแสดงระดับนานาชาติ ยืนยันถึงคุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมสำหรับงานด้านการเกษตรของประเทศไทยและของโลก จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. และของชาวไทยทุกคน
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์