วันที่
20 มิถุนายน 2567 นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศงานจ้างออกแบบ
โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ณ ห้องประชุมจันผา
โรงแรมเวียงลคอร อ.เมือง จ.ลำปาง โดยมีนายธีระชัย เนียมหลวง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านออกแบบและคำนวณ) กล่าวรายงาน ซึ่งในที่ประชุมได้นำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของโครงการให้กับหน่วยราชการ
ตลอดจนประชาชนผู้สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ
นายธีระชัย
เนียมหลวง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พื้นที่ของ ต.แม่ตีบ
อ.งาว ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยมาโดยตลอด
โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำป่าไหลหลาก
ท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ตำบลแม่ตีบ ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในพื้นที่ จึงได้ทำหนังสือให้ทางราชการพิจารณาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
ซึ่งมีมติ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบ
จะก่อสร้างบนพื้นที่ หมู่ 5 บ้านวังตม ต.จางเหนือ
อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นลักษณะเขื่อนดินถมยาวประมาณ 443 เมตร สูงประมาณ 45 เมตร
มีความจุอ่างฯ ที่ระดับกักเก็บปกติ 59.70 ล้าน ลบ.ม. มูลค่ารวมของการก่อสร้างโครงการประมาณ
944,703,689.61 บาท ใช้เวลาคาดการณ์ในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยระยะก่อนก่อสร้างจะเป็นการเตรียมงานก่อสร้างต่างๆ
พร้อมสำรวจและจ่ายค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน
และจากนั้นจะเป็นการก่อสร้างงานเขื่อนและอาคารประกอบต่อๆไป ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2572-2575 และจะแล้วเสร็จในปี 2576-2577
นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดโครงการนี้แล้ว อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่ตีบ ตำบลจางเหนือ ตำบลแม่ตีบ ในฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูละ 10,000 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรท้ายลุ่มน้ำแม่ตีบ คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยมด้วย เนื่องจากน้ำแม่ตีบเป็นสาขาของแม่น้ำยม เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูแล้งจะช่วยเหลือการเกษตรได้เฉลี่ย 23,300 ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุกทกภัยบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรในช่วงน้ำหลากบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างฯ พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เป็นต้น และเมื่อก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งแพร่และเพาะขยายพันธ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและจำหน่าย เพื่อให้มีรายได้ต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น