ด้วยในปี พ.ศ. 2567
จังหวัดลำปางได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นจังหวัดใน 5 เมืองอัตลักษณ์ 8
เมืองน่าเที่ยว ในช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยได้เลือกประเพณีล่องสะเปาจาวละกอนของจังหวัดลำปางเป็นงานประเพณีน่าเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว
จังหวัดลำปาง โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมกับเทศบาลนครลำปาง และสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
บูรณาการจัดงานประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 14 - 15
พฤศจิกายน 2567 ณ ลานศาลหลักเมืองนครลำปาง, สวนข่วงละกอน,
และท่าน้ำสิงห์ชัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อต่อยอดประเพณีล่องสะเปาจาวละกอนเป็นรายการมรดกภูมิปัญญา
และยกระดับเทศกาลสู่ระดับชาติ
และระดับนานาชาติในอนาคต
รวมถึงสนับสนุนประเพณีลอยกระทงให้ขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และสนองต่อนโยบาย
Soft Power ของรัฐบาล โดยการจัดงานประเพณีล่องสะเปามีกิจกรรมสำคัญต่าง
ๆ ดังนี้
วันที่
14 พฤศจิกายน 2567
- พิธีล่องสะเปาจาวละกอน
ตามรอยเจ้าหลวง ณ ลานศาลหลักเมืองนครลำปาง
- บูชาผางประทีป
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หลวงพ่อเกษม และศาลหลักเมืองนครลำปาง
- ขบวนแห่สะเปาหลวง และโคมสาย
จากลานศาลหลักเมืองนครลำปาง ไปตามถนนทิพย์ช้าง ถึงท่าน้ำสิงห์ชัย
- พิธีสะเดาะเคราะห์หลวง
และลอยสะเปาหลวงลงสู่แม่น้ำวัง
- กิจกรรม DIY สะเปาน้อย ณ สวนข่วงละกอน
- การประกวดธิดาสะเปาแก้ว - สะเปาคำ
- การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีเมืองลำปาง
และมหกรรมอาหาร ชมถนนอลังการโคมล้านนา ณ บริเวณถนนบ้านเชียงราย และสวนข่วงละกอน
- กิจกรรมตลาดวัฒนธรรม
และลานวัฒนธรรมสร้างสุข ณ ข่วงหอศิลป์วัดเชียงราย
วันที่
15 พฤศจิกายน 2567
- พิธีเปิดงานประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน
และการประกวดสะเปาลอยน้ำ ณ ท่าน้ำสิงห์ชัย
- การแสดงพลุแสงสีเสียงตระการตา
- แสดง Light
& Sound “สืบฮีตสานฮอย ย้อนรอยพุทธบูชา ป๋าเวณีล่องสะเปาจาวละกอน”
และการแสดงจากศิลปิน “ตุ๊ก วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ณ เวทีท่าน้ำสิงห์ชัย
- การแสดงดนตรีศิลปวัฒนธรรมล้านนาลูกหลานจาวละกอน
- การแสดงดนตรีปี่พาทย์ล้านนาร่วมสมัย
“The
Sound Of Lampang” ณ ข่วงนคร
- กิจกรรม DIY สะเปาน้อย ผางประทีป และโคมสาย ณ สวนข่วงละกอน
- การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของดีเมืองลำปาง
และมหกรรมอาหาร ชมถนนอลังการโคมล้านนา ณ บริเวณถนนบ้านเชียงราย และสวนข่วงละกอน
- กิจกรรมตลาดวัฒนธรรม และลานวัฒนธรรมสร้างสุข ณ ข่วงหอศิลป์วัดเชียงราย
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง และสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง
เล็งเห็นว่า การจัดงานประเพณีในครั้งนี้ จะเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณี
วัฒนธรรมสำคัญของจังหวัดลำปาง
และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดเป็นมรดกวัฒนธรรม
รวมถึงให้ประชาชนมีกิจกรรมร่วมกัน โดยใช้งานประเพณีเป็นศูนย์รวมจิตใจ เกิดความรัก
ความสามัคคีในชุมชน ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และเกิดสำนึกรักท้องถิ่นต่อไปได้
รวมถึงกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีคุณภาพ ส่งเสริมสร้างสรรค์คุณค่า
และความโดดเด่นของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางได้อย่างยั่นยืน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น