วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

เชิญชวนชาวพุทธสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว” สัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม

 


เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568  รัฐบาลเปิดให้ประชาชนสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

 


ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนจากทั่วประเทศที่เดินทางเข้ามาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะและโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มอบให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ตลอดทุกวันที่ประดิษฐาน

 


สำหรับภายในท้องสนามหลวง จะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และมีการจัดกิจกรรมทุกวัน ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.0012.00 น. และช่วงเย็นเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป และพิธีเจริญจิตตภาวนา ในทุกวันพระมีพิธีแสดงธรรมเทศนา 1 กันต์ ในภาคเช้า

 


และโอกาสสำคัญในระยะเวลาการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ ท้องสนามหลวง จะมีกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี 31 ธันวาคม 2567 กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2568 กิจกรรมวันตรุษจีน (วันขึ้นปีใหม่จีน) วันที่ 29 มกราคม 2568 และกิจกรรมวันมาฆบูชา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 อีกด้วย

 


เปิดประวัติพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เชื่อว่า เป็นพระทันตธาตุศักดิ์สิทธิ์ (ฟัน) ของพระพุทธเจ้าซึ่งถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1955 ภายในเจดีย์โบราณใกล้เมืองซีอาน และถูกนำมาประดิษฐานในอาคารพิเศษที่ วัดหลิงกวง ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาในกรุงปักกิ่ง 

 


วัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและบรรยากาศที่สงบงดงาม มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและจากต่างประเทศ  โดยเมื่อปี ค.ศ. 1983 วัดหลิงกวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้ง

 


พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่วัดหลิงกวง ประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปทองคำประดับอัญมณี องค์พระเขี้ยวแก้วมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อกันว่า บุคคลต่าง ๆ มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้ว มีสีต่างกันไป บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น ซึ่งเป็นไปตามกรรม ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล 

แม้องค์พระบรมสารีริกธาตุจะมิใช่สภาวธรรมที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเครื่องชี้ทางและสะพานให้พุทธศาสนิกชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาได้ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“พระเขี้ยวแก้ว” เป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่เดินทางมาสักการะและแสวงบุญเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญาและแรงบันดาลใจบนเส้นทางธรรม

สำหรับประชาชนที่ต้องการสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00 น. - 20.00 น.ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์