วันที่ 8 ธันวาคม 2567 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (ผอ.อุทยานธรณีลำปาง) และภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดงานมหกรรมเปิดโลกอุทยานธรณีเพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดลำปาง ตอน “ลำปางมหานครแห่งโลกดึกดำบรรพ์” พร้อมทั้งให้เกียรติเปิดป้าย พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จังหวัดลำปาง พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งแรกในภาคเหนือ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานในพิธี แสดงความ ชื่นชมจังหวัดลำปาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง กรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานพันธมิตร ในจังหวัดลำปาง ที่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญกับอุทยานธรณี และได้ร่วมมือกันจัดงานมหกรรม เปิดโลกอุทยานธรณีเพื่อการท่องเที่ยว ณ จังหวัดลำปาง ตอน "ลำปางมหานครแห่งโลกดึกดำบรรพ์" ขึ้นในครั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ สำคัญของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่มีการขยายตัวขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่หากพิจารณาในมิติของการกระจายรายได้ จะพบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ไม่สามารถกระจายไปสู่ เมืองท่องเที่ยวรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาแหล่ง ท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ และมีนโยบายที่จะยกระดับศักยภาพของการท่องเที่ยวไทย สู่การเป็น “จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวโลก” ภายใต้แผนปฏิบัติการ Ignite Thailand’s Tourism ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมรับนโยบายของรัฐบาล และเร่งขับเคลื่อนสู่ เป้าหมาย โดยจะมุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นขับเคลื่อน การท่องเที่ยว และพัฒนากิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการสร้างเรื่องราวเชื่อมโยง ซึ่งกิจกรรมที่ กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบของอุทยานธรณี หรือ Geopark ตามแนวทางของยูเนสโก ถือเป็นมิติใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง
เมื่อพูดถึงคำว่า อุทยานธรณี เราไม่ได้หมายถึงเรื่องของคุณค่าทางธรณีวิทยาเท่านั้น แต่หมายถึงพื้นที่ที่นอกจากจะประกอบไปด้วยแหล่งที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาแล้ว ยังรวมถึง การเชื่อมโยงกับแหล่งธรรมชาติ นิเวศวิทยา โบราณคดีวัฒนธรรม และเรื่องราวของชุมชนที่อยู่ใน พื้นที่นั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานธรณีระดับต่าง ๆ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
1) อุทยานธรณีระดับโลก 2 แห่ง คือ อุทยานธรณีสตูล อุทยานธรณีโคราช
2) อุทยานธรณีระดับประเทศ 3 แห่ง คือ อุทยานธรณีขอนแก่น อุทยานธรณีอุบลราชธานี และอุทยานธรณีเพชรบูรณ์
3) อุทยานธรณีระดับท้องถิ่น 6 แห่ง คือ อุทยานธรณีพุหางนาค อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ อุทยานธรณีชัยภูมิ อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก อุทยานธรณีเชียงราย และอุทยานธรณีลำปาง
การจัดงานในครั้งนี้ก็ถือเป็นการเปิดตัว “อุทยานธรณีลำปาง” มหานครแห่งโลกดึกดำบรรพ์ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ผมหวังว่าเมื่อการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประชาชนผู้เข้าร่วมงานจะมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีภายใต้โลโก้ “อุทยานธรณี” มากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาอุทยานธรณีจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของแหล่ง ธรณีวิทยาและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการพัฒนา อุทยานธรณีไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในอนาคตต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น