วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

กฟผ. เร่งตรวจสอบค่าแรงสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองแม่เมาะ พบควบคุมได้ไม่เกินค่ามาตรฐานกฎหมายกำหนด




กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน เน้นการป้องกันดูแลสิ่งแวดล้อม และตรวจวัดค่าแรงสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองอย่างเคร่งครัด ทำให้สามารถควบคุมได้ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ ควบคู่กับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง


นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีชาวบ้านแม่จาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ร้องเรียนบ้านเรือนเกิดรอยร้าว ซึ่งคาดว่ามาจากแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดเหมืองนั้น กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้รีบส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดวัดค่าแรงสั่นสะเทือนโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย

-           บริเวณถ้ำช้างเผือกห่างจากพื้นที่ขอบโครงการ 0.27 กิโลเมตร

-           บริเวณแนวสายส่งไฟฟ้าห่างจากพื้นที่ขอบโครงการ 0.17 กิโลเมตร

-           บริเวณเชิงดอยผาตูบห่างจากพื้นที่ขอบโครงการ 1.10 กิโลเมตร

-           บริเวณสำนักสงฆ์ถ้ำอินทร์เนรมิตห่างจากพื้นที่ขอบโครงการ 0.97 กิโลเมตร

ขณะที่ระยะห่างจากขอบพื้นที่โครงการถึงหมู่บ้านแม่จาง 2.8 กิโลเมตร และห่างจากบ้านข่วงม่วง 2.3 กิโลเมตร โดยพบว่า ผลการตรวจวัดค่าแรงสั่นสะเทือนโครงการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี ตั้งแต่ปี 2561-2568 ไม่เกิน 3 มิลลิเมตรต่อวินาที ตามเกณฑ์ควบคุมของ กฟผ. ซึ่งไม่เกินค่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมระดับเสียงและความสั่นสะเทือนจากการทำเหมืองหิน (พ.ศ.2548) ค่าความเร็วอนุภาคต่ำสุด 4.7 มิลลิเมตรต่อวินาที

ส่วนระดับเสียงและความสั่นสะเทือนได้กำหนดให้ทำเหมืองในเวลากลางวัน ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. หรือ เวลา 15.00-16.00 น. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน และก่อนระเบิดต้องเปิดสัญญาณเตือนทุกครั้ง รวมถึงควบคุมบริษัทผู้รับจ้างให้ใช้ปริมาณวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 กิโลกรัมต่อจังหวะถ่วง

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ.แม่เมาะ ให้ความสำคัญกับชุมชนมาโดยตลอด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขแนบท้ายรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และดำเนินการตามระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) อย่างเคร่งครัด ทำให้สามารถควบคุมผลกระทบด้านต่าง ๆ ทั้งคุณภาพอากาศ เสียง คุณภาพน้ำ และแรงสั่นสะเทือนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือดีกว่ามาตรฐานที่ทางราชการกำหนด รวมถึงได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจวัดที่บอร์ดแสดงผลประจำหมู่บ้านให้รับทราบด้วย

นอกจากนี้ กฟผ.แม่เมาะ ยังเปิดช่องทางรับเรื่องรองเรียนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก ทั้งทางเว็บไซต์ https://complain-mmm.egat.co.th/ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเหมืองแม่เมาะ โทรศัพท์ 0 5425 4111 และ Line Group : ตัวแทนชุมชนบ้านแม่จางและบ้านข่วงม่วง เพื่อให้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์