วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง จังหวัดลำปาง

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 3 ที่ว่าการการอำเภอเมืองลำปาง นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วัง จังหวัดลำปาง เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ รวมทั้งรับทราบสภาพปัญหาในระดับพื้นที่ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำไปกำหนดการปรับปรุงโครงการส่งน้ำ ฯ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป



โดยมีนายขจร ใบพลูทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสำรวจ เป็นผู้แทนกรมชลประทาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นางดรรชนี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน สภาเกษตรกร ผู้นำชุมชน ผู้แทน จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และสื่อมวลชนที่สนใจ จำนวน 150 คน



ด้านนายพนมศักดิ์ ใช้สมบุญ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วังได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 โดยการก่อสร้างฝายหลวงสบอางกั้นแม่น้ำวัง ในพื้นที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อยกระดับน้ำของแม่น้ำวังเข้าสู่คลองส่งน้ำชลประทานสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา รวมทั้งพื้นที่ชลประทานฝายแม่ปุง ส่งน้ำให้กับเกษตรในเขตพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเกาะคา และ อำเภอแม่ทะ รวมพื้นที่ชลประทาน 75,200 ไร่ มีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญคือเขื่อนกิ่วลม และ เขื่อนกิ่วคอหมา ปัจจุบันมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ



เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2568-2569 กรมชลประทาน ได้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่วังให้มีความสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำวังโดยรวม เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำชลประทาน มีการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป มีระยะเวลาดำเนินงาน จำนวน 450 วันซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2569








Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์