วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อดำ-ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง




ยามสายที่ท้องฟ้ามืดครึ้มฉ่ำฝน ดูเหมือนทุกอย่างในเมืองลำปางจะพลอยเงียบเหงาเนิบนาบ ไม่เว้นแม้ในย่านที่ควรจะคึกคักอย่างตลาดสดเทศบาล 1 ไล่เลยไปจนถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ป้าน้อย วัย 66 ปี ยังคงนั่งอยู่ในมณฑปที่ประดิษฐาน พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (ประจำทิศเหนือ) เพื่อขายดอกไม้ธูปเทียนเหมือนเช่นทุกวัน ว่าอันที่จริงก็กว่า 40 ปีแล้วที่ป้านั่งประจำอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน วันใดเงียบเหงาร้างไร้ผู้คน ป้าน้อยมักพูดติดตลกกับพระพุทธรูปตรงหน้าว่า วันนี้หลวงพ่อไปเที่ยวที่ไหน หรือติดกิจนิมนต์ ไม่เห็นมีคนมาเลยหญิงชรายังมักเอ่ยถึงหลวงพ่อกับคนที่มากราบไหว้บูชาว่า ดูท่านสิ งามเหลือเกิน

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (ประจำทิศเหนือ) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะผสมรมดำทั้งองค์ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า หลวงพ่อดำประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงไทยแบบจตุรมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อองค์พระ ณ กรมการรักษาดินแดน ทั้งนี้ ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างพระพุทธรูปขึ้นทั้งหมด 4 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานยังทิศทั้งสี่ทั่วประเทศ รวม 4 จังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือ-จังหวัดลำปาง ทิศใต้-จังหวัดพัทลุง ทิศตะวันออก-จังหวัดสระบุรี และทิศตะวันตก-จังหวัดราชบุรี โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2511

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือพระสี่มุมเมือง ในประเทศไทยจึงมีอยู่ 4 องค์ กล่าวกันว่า จัดสร้างขึ้นตามความเชื่อโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่จะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องขอบขัณฑสีมาทั้ง 4 ทิศ โดยการสร้างพระพุทธรูปไว้ 4 มุมเมือง หรือที่เรียกว่า   จตุรพุทธปราการคือ การนำเอาพระพุทธรูปไปประดิษฐานเป็นปราการทั้ง 4 ด้าน เพื่อปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างดวงชะตาเมือง และคุ้มครองพสกนิกรให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

เดิมทีท่านประดิษฐานในศาลาชั่วคราวใกล้กับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตรงโน้นป้าน้อยพูดขณะจัดถาดวางธูปเทียน กว่ามณฑปหลังนี้จะสร้างเสร็จก็ปี พ.ศ. 2517 โอ้โห ฉลองกัน 3 วัน 3 คืนไม่หยุด หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านยังมาร่วมปลุกเสกทำพิธี มีการทำเหรียญบูชาคู่กันอีกด้วยป้าน้อยว่า ปีนี้เองที่ป้าน้อยมาทำงานเป็นคนเฝ้ามณฑปหลวงพ่อ ทำหน้าที่เปิด-ปิด ทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถู พร้อมกับขายดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่นั่งอยู่ตรงนี้ ป้าน้อยตั้งข้อสังเกตว่าคนลำปางไหว้เจ้ามากกว่าไหว้พระ หรืออาจเป็นเพราะไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าจังหวัดลำปางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ด้วยซ้ำ เข้าทำนองใกล้เกลือกินด่าง และอาจเป็นไปได้เช่นกันที่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างจริงจัง สถานที่ก็ทรุดโทรม ไม่ได้รับการบูรณะให้สมกับคุณค่าที่มีอยู่

อีกฝั่งหนึ่งของมณฑปหลวงพ่อดำคือมณฑปหลวงพ่อเกษม เขมโก ใกล้กันนั้นคือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนับเป็นสถานที่น่าสนใจอันดับแรกที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุไว้ในโบรชัวร์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละจังหวัด

หลักเมืองของจังหวัดลำปางเป็นเสาไม้สัก มีด้วยกัน         3 หลัก ได้แก่ เสาหลักเมืองหลักแรก สันนิษฐานว่าคือเสาต้นเล็กที่สุด ตามประวัติระบุว่าในปี พ.ศ. 2400 เจ้าวรญาณรังษีราชธรรม พร้อมด้วยครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี และพระเถระ 4 รูป รวมถึงพ่อเมืองทั้งสี่ ได้ฝังเสาหลักเมืองหลักแรกของเมืองลำปางนี้ ณ วัดปงสนุก ซึ่งถือเป็นวัดสะดือเมือง หรือวัดศูนย์กลางเมืองเขลางค์ยุคที่สอง

เสาหลักเมืองหลักที่สอง สร้างขึ้นในสมัยเจ้าพรหมาธิพงษ์ธาดา ราวปี พ.ศ. 2416 โดยมีการฝังหลักเมืองหลักนี้ ณ ฝั่งเมืองใหม่ ซึ่งก็คือหลังจากการย้ายศูนย์กลางเมืองจากฝั่งตะวันตกมาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวัง บริเวณคุ้มเจ้าราชวงศ์

ส่วน เสาหลักเมืองหลักที่สาม สร้างราวปี พ.ศ. 2430 สมัยเจ้านรนันท์ชัยชวลิต ต่อมา เมื่อการสร้างศาลากลางจังหวัดแล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญหลักเมืองทั้งสามมาไว้ ณ ที่แห่งนี้ กระทั่งมีการสร้างมณฑปครอบในปี พ.ศ. 2510 ตรงกับสมัยนายสุบิน เกษทอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นยังมาร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์

หากใครติดตามข่าวสารของทางจังหวัดจะเห็นว่าในปีหนึ่ง ๆ นั้น บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจะเป็นสถานที่จัดงานใหญ่ 3 งานด้วยกัน คือ วันที่ 5 พฤษภาคม เทศบาลร่วมกับทางจังหวัดจัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหลักเมือง พร้อมกับทำพิธีสืบชะตา จากนั้นวันต่อมาจึงมีการฟ้อนผี ล่วงเข้าเดือนธันวาคม วัดบุญวาทย์วิหารจัดงานเทศน์มหาชาติ ช่วงปลายปี ทาง อบจ. ยังใช้เป็นสถานที่จัดพิธีบวงสรวงให้งานฤดูหนาวและงานกาชาดจังหวัดลำปางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย



Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์