วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เส้นทางหนุ่มเถิน ขนเพชรฝ่าด่านศุลกากร


ย้อนรอย บลูไดมอนด์
คนจำนวนมากล้มตาย หายนะ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย และซาอุดิอารเบีย เลวร้ายลงจนลดระดับเหลือเพียงอุปทูต ที่มีหน้าที่เพียงติดตามข่าวสาร ข้อมูล การสังหารนักธุรกิจ และนักการทูต รวมทั้งการติดตามโคตรเพชร “บลูไดมอนด์” ล้วนสืบเนื่องมาจากโจรกรรมบันลือโลก โดยหนุ่มเมืองเถิน จังหวัดลำปาง นามเกรียงไกร เตชะโม่งทั้งสิ้น คำถามก็คือเกรียงไกร ขนเคื่องเพชรมหาศาลผ่านด่านศุลกากรมาได้อย่างไร

ปรีชา สอาดสอน อดีตบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม เนชั่น จับเส้นทางการขนเพชรของเกรียงไกร ผ่านปากคำของเขา มีความบางตอนว่า..

คงเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับนักโจรกรรมมือหนึ่งแห่งดินแดนทะเลทรายแน่นอน ขนาดทหาร-ตำรวจประจำพระราชวังไฟซอลมากมายเป็นกอง ยังใช้ความสามารถผ่านออกมาได้ แล้วทำไมแค่"ศุลกากร"เมืองไทย จะผ่านเข้ามาไม่ได้

"เกรียงไกร"ย้อนอดีตให้ฟังว่า หลังจากนำเครื่องเพชรบรรจุกล่องปะปนกับสัมภาระอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว จึงทะยอยออกมาจากพระราชวัง มุ่งหน้ามายังสนามบิน แต่สัมภาระที่นำติดตัวมานั้น มีน้ำหนักเกินกว่าที่จะนำติดตัวขึ้นเครื่องบินมาได้ จึงต้องเสียค่าสัมภาระเพิ่มเติม แต่เขาจำไม่ได้ว่าต้องเสียเงินเท่าไร

ไม่กี่ชั่วโมงก็บินลัดฟ้ามาถึงสนามบินดอนเมือง คราวนี้เริ่มมีปัญหาอยู่บ้าง เขาจึงคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรดี จึงจะผ่านมาตรการตรวจตราของศุลกากรไทยได้

"เกรียงไกร"จึงเริ่มไปเจรจากับเจ้าหน้าศุลกากรระดับล่างที่ทำหน้าตรวจตราคนหนึ่งว่า จะขอนำสัมภาระที่เกินน้ำหนักเข้ามาภายในประเทศเราได้อย่างไร

เขาได้บอกกับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรคนนั้นว่า ข้างในนั้นบรรจุเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินในประเทศซาอุฯ แต่เพื่อตัดความรำคาญและเรื่องมาก เขาจึง มอบสิ่งตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้น เป็นจำนวนมูลค่าเท่าไรนั้น จำไม่ได้

ทำให้ศุลกากรคนนั้น ทำการตรวจเป็นพิธี เพียงแค่เปิดกล่องดูด้านบนเท่านั้น ไม่ได้ตรวจตราลงลึกไปถึงภายในกล่อง จึงทำให้รอดการถูกจับกุมได้

ประการสำคัญที่รอดสายตาศุลกากรได้นั้น "เกรียงไกร" บอกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแต่งกายเหมือนคนงานก่อสร้างที่ไปหากินขุดทองในดินแดนทะเลทราย จนทำให้รายได้เข้าประเทศไทยมากมาย จึงทำให้ไม่ได้มีการเข้มงวดตรวจสอบสัมภาระอะไรกันมากมายเท่าไรนัก

สำหรับความเป็นอยู่ของ"เกรียงไกร" ก่อนหน้าไม่กี่ปีที่ลานนาโพสต์ จะบุกไปเจอเขา ต้องเรียกว่า ค่อนข้างยากจน บางวันก็มีรายได้จากการรับจ้างปีนต้นไม้ ให้กับชาวบ้าน หรือถ้ามีเพื่อนบ้านมาจ้างไปทำอะไรก็ไป ทำให้บางวันมีรายได้ประมาณ 200 บาท หรือบางวันก็ไม่มีรายได้อะไรเลย

ด้วยวัยถึงกว่า 50  ปีแล้ว จะไปรับจ้างปีนต้นไม้บ่อยๆ ก็เป็นงานที่เสี่ยงเกินไป

ส่วนการรับจ้างที่ทำให้เขามีรายได้มากที่สุดนั้น "เกรียงไกร" บอกว่า ได้ซื้อรถไถนาเอาไว้ 1 คัน เมื่อมีชาวบ้านต้องการไถนา ก็จะขับรถคันนี้ออกไปรับจ้าง โดยควักเงินเติมน้ำมันเอง และแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ทำให้เกิดรายได้วันหนึ่งๆ ประมาณเกือบพันบาท แต่งานไถนา-ไร่ นั้นไม่ได้มีทุกวัน

หลายคนเข้าใจว่า "เกรียงไกร" น่าจะอมเครื่องเพชรเอาไว้บ้าง หากใครได้ไปเห็นชีวิตความเป็นจริงแล้ว การใช้ชีวิตของเขานั้น ดูแล้วไม่ได้ร่ำรวยอะไรมากนัก ตามประสาชาวบ้านเรียกว่า "พอกินพอใช้" ซึ่งไม่ได้แตกต่างอะไรกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในย่านนั้น และสิ่งสำคัญที่สุด เส้นทางชีวิตเขาตอนนี้ ต้องมาเป็นหนี้สินหลายหมื่นบาท

เมื่อถามไป ถามมา ดันถูก"เกรียงไกร"ถามย้อนมาว่า "คุณมีเงินบ้างหรือเปล่า ผมอยากขอยืมสัก 3 แสน เพื่อมาใช้หนี้และเอาไว้มาใช้ทำมาหากินหน่อย หากผมยังอมเครื่องเพชรเอาไว้ ผมคงไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้แน่ ผมคงย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว"

นี่แหละ..!! นักโจรกรรม แม้จะได้รับโทษไปแล้ว เส้นทางชีวิตเขายังไม่พ้นทุกข์กันอีก


และกับชีวิตวันนี้ ที่เป็นอุทธาหรณ์สำหรับคนรุ่นหลัง การได้มาซึ่งไม่ยั่งยืน

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 950 วันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2556)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์