วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

กองทัพจอกหูหนู !!



นู๊ เป็นคนกลัวหนู โดยเฉพาะหนูบ้านตัวใหญ่เท่าแมว และกลัวโรคฉี่หนู เพราะเป็นโรคร้ายแรงถึงตาย  แต่วันนี้ หนู๊ “แร็ค ลานนา” พบความกลัวชนิดใหม่ นั่นคือปัญหาจอกหูหนูยึดหน้าเขื่อนกิ่วลม ชนิดพันธุ์พืชที่กระจายตัวรวดเร็วไม่ต่างไปจากผักตบชวา ที่เคยเป็นและยังคงเป็นปัญหาให้เจ้าพระยาอยู่วันนี้

การแบ่งตัวอย่างไม่รอใครของจอกหูหนู สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนที่หาอยู่ หากินอยู่กับลำน้ำเหนือเขื่อนกิ่วลมไม่น้อย และนั่นเป็นเหตุผล ที่ “แร็ค ลานนา” ต้องล่องเรือหาต้นกระแสธารที่จะก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวงในวันข้างหน้า แม้ว่าจะเสี่ยงต่อฝ้าแดดบนผิวหน้า แร็ค ลานนา ก็ยอม

ปัญหาจอกหูหนูยึดหน้าเขื่อนกิ่วลม ลานนาโพสต์นำเสนอข่าวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากปรากฎร่องรอยมหันตภัยวัชพืชน้ำชนิดนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน จนมาถึงวันนี้นับเวลาได้สองเดือนกว่าแต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ทำได้เพียงระดมกำลังเจ้าหน้าที่กับชาวแพมาช่วยกันตักโกยแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับวัชพืชน้ำที่ลอยมาตามกระแสน้ำ พัดพามาตามกระแสลม นำ กองทัพจอกหูหนู ลอยมาอวดโฉมฟ้องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากฝีมือมนุษย์

ปรากฏการณ์ ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) เป็นหนึ่งในผลจากภาวะโลกร้อนส่งผลต่อระบบนิเวศในน้ำอย่างมาก ปริมาณน้ำและอาณาเขตของแหล่งน้ำลดลง ส่งผลให้ความเข้มข้นของธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืชอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัสสูงมากขึ้น ทำให้ในแหล่งน้ำมีธาตุอาหารที่กระตุ้นให้สาหร่ายและวัชพืชในน้ำเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนได้มากกว่าปกติ

เมื่อพืชเหล่านี้ได้รับธาตุอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญก็ทำให้มีพืชปกคลุมทั่วบริเวณหน้าน้ำ ส่งผลทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะออกซิเจนในน้ำมีน้อย แสงแดดส่องลงไปไม่ถึงใต้ผืนน้ำ ทำให้พืชในน้ำสังเคราะห์แสงไม่ได้ ในระยะยาวจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชุมชนริมน้ำและระบบนิเวศได้

มีคำถามว่า แล้วสารอาหารที่เรียกว่าเป็นปุ๋ยชั้นดีของวัชพืชน้ำอย่าง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม (สูตรปุ๋ย N-P-K) นั้นมาจากไหน ตามปกติแล้วในแหล่งน้ำที่มีน้ำมากอย่างในเขื่อนหากจะมีสารอาหารสำหรับพืชน้ำมาก ปัญหานี้ควรจะเกิดมานานแล้ว แต่ชาวแพคนหนึ่งบอกกับ “แร็ค ลานนา”ว่าทำแพมากว่า 20 ปี ไม่เคยจอกหูหนูโผล่มาให้เห็นเลย

แต่หากย้อนหลังไปเมื่อสิบปีก่อนก็เคยเจอปัญหาการบุกรุกของผักตบชวา แต่ไม่ว่าจะจอกหูหนู หรือผักตบชวา ต่างก็เป็นหลักฐานชั้นดีว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเริ่มมาจากฝีมือมนุษย์ เพราะสารอาหารในน้ำไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจน ที่อาจจะมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่ใช้ในการเพราะปลูกพืชบนบก หรือฟอสฟอรัสที่เป็นสารประกอบในสารซักล้าง ประกอบกับปัจจัยเสริมที่สนับสนุนจอกหูหนูให้เพิ่มจำนวนกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดอันร้อนแรง อุณหภูมิที่สูงจากภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้วัชพืชน้ำทวีคูณได้ในเวลาอันสั้น และโกยเท่าไหร่ก็ไม่หมด

การกำจัดจอกหูหนูเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วต้นเหตุอยู่ที่ใด “แร็ค ลานนา” พร้อมสำรวจเส้นทางพร้อมด้วยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) ที่ ผอ.สุวิทย์  ขัตติยวงค์ ให้ลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ด้วยกัน โดยมีคุณธนา แก้วนิล นายกสมาคมท่องเที่ยว ลงมือเป็นพลขับเรือพาทีมสำรวจย้อนน้ำขึ้นไปดู

ตลอดสองข้างทางจะเห็น จอกหูหนูลอยละล่องมาตามกระแสน้ำ บ้างก็ติดตามโขดหิน บ้างก็ถูกกระแสน้ำพัดเข้าไปกองกันอยู่ในเวิ้งน้ำนิ่ง และยิ่งล่องย้อนขึ้นไปก็ยิ่งเจอจอกหูหนูไหลมาเป็นกระแสธาร ทีมสำรวจย้อนจากสันเขื่อนไปถึงท่าสำเภาทอง ก็พบสาหร่ายคล้ายสาหร่ายหางกระรอกขึ้นหนาแน่น อีกทั้งยังมีจอกหูหนู เรียกได้ว่าเป็นโชค2ชั้น อ้อ....คงต้องเรียกว่า ซวย 3 เด้งมากกว่า เพราะตอนนี้นอกจากจอกหูหนู สาหร่ายเบ่งบาน ยังมีหมอกควันซ้ำเติมอีก

มองผ่านๆการล่องเรือสำรวจในครั้งนี้ ทำให้ทิวทัศน์ที่มองเห็นมีคล้ายมีหมอกจางๆเหมือนอยู่กุ้ยหลินเมืองจีน หากแต่นั่นคือความจริงที่น่ากลัวว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและทางอากาศ ธรรมชาติกำลังฟ้องและเรียกร้องความสนใจ หวังว่าคงจะได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง และจริงใจ สักที

กุ้ยหลินลำปางงดงาม ด้วยธรรมชาติสรรสร้าง แต่จอกหูหนู สาหร่าย กลับทำให้หมองเศร้าด้วยฝีมือมนุษย์


 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 969  ประจำวันที่ 14 - 20 มีนาคม 2557)  
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์