วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เสียงกระซิบจากท้องทะเล



กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

นิยามของทะเลอาจเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยวที่นึกถึงกันเฉพาะช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และมันก็ดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเราอย่างมากหากวัดกันที่ระยะทาง แต่เชื่อหรือไม่ว่า พฤติกรรมบางอย่างของคนลำปางก็อาจส่งแรงกระเพื่อมไปถึงท้องทะเลได้เหมือนกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (IUCN) ออกมาเปิดเผยถึงผลการสำรวจและเก็บข้อมูลจากตลาดร้านค้าปลาตามแนวชายฝั่งทะเล รวมทั้งห้างค้าส่งขนาดใหญ่ พบว่ามีการนำปลานกแก้วมาขายกันมากจน น่าใจหาย ทั้ง ๆ ที่เดิมทีปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมกินกันสักเท่าไร เจ้าหน้าที่ได้สอบถามไปยังห้างค้าส่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ปลานกแก้วที่นำมาขายนั้นมาจากการเพาะเลี้ยง โดยนำลูกปลามาจากทะเล จากนั้นเพาะเลี้ยงจนมีขนาดที่สามารถนำออกมาขายได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างมาก

ในบรรดาปลาสวยงามที่สร้างสีสันให้กับโลกใต้ทะเล ปลานกแก้ว (Parrotfish) นับเป็นปลาโดดเด่นกลุ่มหนึ่ง ด้วยสีสันสดใสและเกล็ดเรียงเป็นระเบียบ ลำตัวทรงแบนยาวรีขนาดราว 30-40 เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นปลาสวยงามที่มีขนาดใหญ่ เราจะพบปลานกแก้วในท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มันมีฟันแข็งแรง ลักษณะติดกันเป็นแผงยื่นออกมานอกเรียวปากทั้งด้านล่างและด้านบนดูคล้ายจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้วนั่นเอง นอกจากปากจะเหมือนนกแก้วแล้ว สีสันของมันยังจัดจ้านเหมือนนกแก้ว มีตั้งแต่สีเขียว สีแดง สีเหลือง และลายดำแดง แล้วท่าทางการว่ายน้ำของมันก็แสนจะเป็นเอกลักษณ์ โดยมันจะใช้ครีบข้างลำตัวกางโบกน้ำแล้วหุบเข้ามาติดลำตัว โบกแล้วหุบ โบกแล้วหุบ เป็นจังหวะราวกับการกระพือปีกบินของนก

ปลานกแก้วอาศัยอยู่ในน้ำทะเลค่อนข้างใส ว่ายเวียนหากินอยู่ตามแนวปะการังโครงสร้างแข็ง เพราะธรรมชาติออกแบบปากและฟันของมันให้แข็งแรงเหมาะกับการขูด กัด แทะ กินสาหร่ายที่เคลือบอยู่บนโขดหิน หรือโขดปะการัง รวมทั้งยังขูดกินตัวปะการังขนาดเล็กจากปะการังโครงสร้างแข็งทั้งหลาย โดยใช้แผงฟันที่มีแถวบน 2 แถว แถวล่าง 2 แถว ขูด หรือแทะผิวหน้าของปะการัง ทั้งนี้ ปลานกแก้วจะมีอวัยวะภายในสำหรับแยกแยะฝุ่นผงที่เป็นโครงสร้างหินปูน เพื่อขับถ่ายออกมาคืนสู่ท้องทะเล

นักดำน้ำจะได้ยินเสียงกรอด ๆ อย่างชัดเจนหากดำน้ำอยู่ใกล้ ๆ ปลานกแก้ว และแน่นอนว่าย่อมได้เห็นพฤติกรรมกินไป ขับถ่ายฝุ่นผงไปเป็นระยะ ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ปลานกแก้วแต่ละชนิดเฉลี่ยแล้วจะถ่ายออกมาเป็นทรายละเอียดถึงปีละ 90 กิโลกรัม นับเป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดทรายในท้องทะเลและหมุนเวียนแร่ธาตุในแนวปะการัง
          
ทว่าปลานกแก้วเป็นปลาสวยงามที่โชคร้าย ไม่ใช่ถูกจับไปเลี้ยงเป็นปลาตู้เหมือนปลาทะเลชนิดอื่น แต่มันมัก
ถูกจับขึ้นมาเพื่อ กิน อย่างไรก็ตาม ปลานกแก้วเป็นปลาที่กินสาหร่าย กินปะการังเป็นอาหาร จึงไม่ยอมกินเบ็ดง่าย ๆ และเป็นปลาที่ไม่ค่อยมุดเข้าลอบดักปลาของชาวประมงเหมือนปลาอื่น ๆ อีกทั้งเป็นปลาที่หากินอยู่กับแนวปะการัง มันจึงไม่ค่อยติดอวน เพราะอวนไม่สามารถเข้าไปลากได้ถึงแนวหิน หรือแนวปะการัง ซึ่งทั้งหมดเป็นเขตอนุรักษ์
           
 วิธีที่ชาวประมงจะสามารถจับปลานกแก้วได้ ก็โดยวิธีดำน้ำลงไปยิงด้วยฉมวก หรือดำลงไปพ่นไซยาไนด์ให้ปลามึนเมา แล้วจึงจับใส่ถุงตาข่ายขึ้นมา ใครซื้อปลานกแก้วกินคงต้องเสี่ยงกับไซยาไนด์ที่ตกค้างอยู่ตามเหงือกและเครื่องในของปลา ทางที่ดี ละเว้นปลานกแก้วให้เป็นปลาสวยงามและทำหน้าที่รักษาความสมดุลให้แนวปะการังดีกว่า
             
บ้านเราร้านหมูกระทะบางร้านมีเนื้อปลานกแก้วเสิร์ฟให้ลูกค้าด้วย โดยการสั่งมาจากกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ห้างค้าส่งขนาดใหญ่ในลำปางก็มีปลานกแก้วขายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ที่น่าตกใจสำหรับนักดำน้ำก็คือ แผนกขายเนื้อปลาแช่แข็งยังมีเนื้อปลาโรนันแล่แพ็กใส่ถุงชนิดพร้อมกินได้เลย
             
ปลาโรนัน (Guitarfish) มีส่วนหางคล้ายฉลาม ส่วนหัวแบนแหลมเหมือนกระเบน ซึ่งเป็นรอยต่อของวิวัฒนาการจากปลาฉลามถึงปลากระเบน โดยวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคจูราสสิกตอนต้น เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มันชอบหากินสัตว์น้ำต่าง ๆ ตามหน้าดิน จึงเป็นเหยื่อเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างอย่างอวนรุน และโดยเฉพาะอวนลาก ซึ่งประเทศอื่น ๆ เขาโละทิ้งกันหมดแล้ว           

IUCN เรียกร้องให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ออกมาให้ความรู้กับประชาชนเรื่องปลานกแก้วให้มากว่า หากปลานกแก้วหายไป จะเกิดอะไรกับระบบนิเวศใต้ท้องทะเล จริง ๆ แล้ว IUCN น่าจะชงเรื่องที่ใหญ่กว่านี้อีกหน่อย คือ เรื่องอวนลาก ซึ่งมีแต่ประเทศไทยที่ยังไม่มีกฎหมายเข้มงวดในเรื่องนี้ ปล่อยให้เรืออวนลากไถคราดท้องทะเลอย่างบ้าคลั่งจนสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลนั้นร่อยหรอลงทุกที

แต่ก็อย่างว่า ภูเขาถูกทำลายนับเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้นไม้ถูกตัดโค่นเป็นสิ่งที่เรามองเห็น แต่สำหรับท้องทะเล ที่ว่าเป็นเรื่องไกลตัวนั้น บางครั้งการกระทำของเราก็ส่งผลสะเทือนไปถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 986 ประจำวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์