วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กินแมลงช่วยโลก


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

สำหรับบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยหากใครสักคนจะกินแมลง ตามตลาดเราเองก็ชินตากับเมนูจิ้งหรีด หนอนไหม รถด่วน จิ้งกุ่ง แมงมัน หรือตั๊กแตน ซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาลที่หลายคนโปรดปรานและเฝ้ารอ แต่สำหรับบางคน การกินแมลงเป็นเรื่องยากที่จะทำใจได้ ก็ในเมื่อมีเนื้อสัตว์อีกหลากหลายให้เลือกกินอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องหันมากินแมลงกันด้วยเล่า

มีการคำนวณว่า ในปี พ.ศ. 2593 โลกจะมีประชากรมากถึง 7,200-9,600 ล้านคน ทำให้หลายฝ่ายฉุกคิดขึ้นมาว่า เนื้อสัตว์ที่ได้จากการทำปศุสัตว์นั้น จะเพียงพอต่อความต้องการของประชากรจำนวนมหาศาลของโลกหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงออกมาเรียกร้องให้คนทั่วโลกหันมากินแมลงกันมากขึ้น โดยระบุว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารไขมันต่ำ ขณะเดียวกันก็มีโปรตีนกับไฟเบอร์สูง ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่จะบรรเทาความอดอยากหิวโหยทั่วทุกมุมโลก ที่สำคัญ ยังยกตัวอย่างสุดยอดเมนูอย่างยำไข่มดแดงของไทยว่าเป็นหนึ่งในอาหารทรงคุณค่า ที่อาจช่วยให้ประชากรโลกรอดพ้นจากการอดตาย ด้านองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยังออกมายืนยันด้วยว่า ทุกวันนี้มีแมลงหลุดเข้าไปในปากเราพร้อมกับอาหารอยู่แล้ว เราแค่มองไม่เห็นมันเท่านั้นเอง ?!?!

ในบรรดาสัตว์บนโลกของเรานั้น แมลงมีจำนวนมากที่สุด โดยมีอย่างน้อย 5 ล้านชนิด ทั้งนี้ จำนวนแมลงที่กินได้แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงละตินอเมริกาพบว่า มีมากกว่า 1,900 ชนิดเลยทีเดียว แมลงทุกชนิดมี 6 ขา และมีโครงสร้างแข็ง หรืออาจเรียกว่ากระดูก ปกคลุมอยู่ภายนอกร่างกาย โครงสร้างแข็งภายนอกนี้ ประกอบกันขึ้นเป็นเกราะป้องกันอวัยวะที่อ่อนนุ่มภายใน 

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า แมลงมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าที่เราคิด อย่างตั๊กแตนปาทังกาน้ำหนัก 100 กรัม มีโปรตีนถึง 27 กรัม และให้พลังงานมากถึง 150 กิโลแคลอรี ในขณะที่เนื้อหมู 100 กรัม มีโปรตีนเพียง 18 กรัม นอกจากนี้ แมลงยังมีสารไคตินเช่นเดียวกับที่พบในเปลือกกุ้งและปู ซึ่งช่วยลดระดับไขมันในเลือด (แต่ต้องไม่กินต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอาจรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุในร่างกาย)

จะว่าไปแล้ว แมลงไม่ใช่อาหารราคาถูก แมลงกินได้ส่วนใหญ่ราคาตั้งแต่กิโลกรัมละหลายร้อยจนถึงหลายพันบาทเลยทีเดียว ช่วงฤดูแมงมันที่ผ่านมาหลายคนยังจำได้ว่า ราคาซื้อขายกิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท ถึงจะมีราคาแพงมาก แต่ก็ได้มาในปริมาณมากเช่นกัน และจากหลักโภชนาการที่ระบุไว้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องกินแมลงในปริมาณมาก แต่ก็ได้สารอาหารตามที่ร่างกายต้องการเช่นกัน 

นอกจากแมลงจะเป็นแหล่งโภชนาการชั้นเลิศแล้ว ยังหมดกังวลเรื่องอันตรายจากฮอร์โมนและสารเร่งการเจริญเติบโตเหมือนเนื้อสัตว์ชนิดอื่นไปได้เลย เพราะวงจรตั้งแต่ตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัยนั้น ใช้ระยะเวลาสั้นมาก แถมภาวะโลกร้อนยังทำให้การเจริญเติบโตและวงจรชีวิตของแมลงหลายสายพันธุ์เร็วขึ้นอีกด้วย

เรื่องยาฆ่าแมลงก็หายห่วง สถาบันวิจัยโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า แมลงส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่นี้มักถูกซื้อมาในขณะที่ยังมีชีวิตเพื่อป้องกันการเน่าเสีย แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นก็คือ การใช้น้ำมันเก่าในการทอดพวกมันนี่แหละ

ทุกวันนี้มีคนกว่า 2,000 ล้านคนในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ที่กินแมลงเป็นอาหารอยู่แล้ว ส่วนบ้านเราไม่ต้องพูดถึง เราคงนำหน้าชาติอื่น ๆ เรื่องการกินแมลงมาไกลโข หากการกินแมลงคือทางออกของมวลมนุษยชาติ เราคงเห็นทางออกนั้นมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายก็ว่าได้


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 988 ประจำวันที่ 25 - 31 กรกฎาคม 2557)

           

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์