วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปศึกษาตาม สไตล์ คสช.


รู้ กันบ้างไหมว่า ในวงเสวนาหาทางออกประเทศไทยเวทีหนึ่ง มีข้อเสนอเรื่องปฎิรูปการศึกษา ที่ก้าวกระโดดไปไกลเกินคาด คือ ให้การจัดการการศึกษาของชาติออกนอกระบบ เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล ไม่ขึ้นกับนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองนี่เองที่เป็นตัวสำคัญฉุดให้การศึกษาไทยไม่ก้าวหน้าไปไหน เรื่องนี้ควรจะเป็นไปได้อาจไม่ทั้งหมด  แต่อย่างน้อยให้โอกาสการศึกษาของชาติมีทางเลือกใหม่ๆ ในยุคที่ คสช.เป็นใหญ่

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2257 คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งประเทศไทย หรือ คสช. ที่ออกมาประกาศรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลยิงลักษณ์ ชินวัตร ลบความอึมครึมขุ่นมัวของบ้านเมืองที่ก่อนหน้าที่มีข่าวลือว่าจะเกิดปฏิวัติ ฝ่ายเสื้อสีขั้วต่างทางการเมืองที่ฮึ่มๆใส่กันและมีแนวโน้มที่จะเกิดความ รุนแรงกันหลายต่อหลายครั้ง
 
จนมาถึงวันนี้ 3 เดือนแล้ว ที่ คสช. ได้ดำเนินการตามโร้ดแมป แผนปฏิรูปประเทศไทย เข้าสู่ระยะที่ 2 เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย จากห้วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงน้ำลด ตอต่างๆที่จมอยู่ใต้น้ำดูจะผุดโผล่มาให้เห็นความเน่าเหม็นที่ซ่อนเร้นไว้ใต้ความชอบธรรม แทบจะในทุกวงการเลยก็ว่าได้
 
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. เปิดงาน เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย เป็นการแถลงการณ์ทำงานตามสไตล์บิ๊กตู่ ฟังดูเบาๆขำๆเรียกเสียงฮาได้ยอดเยี่ยม แต่เป็นความขำที่หลายหน่วยงานคงจะขำไม่ออก แถมยังจะเหงื่อแตกซิกๆ  โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ที่ฟังแล้วมันโดนใจแร็ค ลานนา จี๊ดๆทีเดียว

“เด็กสมัยนี้เรียนไม่ต้องเกินเวลามั้ง มันเรียนอะไรนักหนา กลับบ้านมามันก็หงุดหงิด ยังต้องมานั่งทำการบ้านถึงสี่ทุ่มเที่ยงคืน ให้มันมีเวลาอยู่กับครอบครัวบ้างสิ แล้วอย่างนี้มันจะหาความอบอุ่นในครอบครัวจากไหน กลับมาพ่อมันก็ต้องช่วยทำการบ้าน รุ่งขึ้นมันบอกพ่อเมื่อวานทำผิดหมด เสาร์อาทิตย์ก็ต้องไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ก็ต้องหาเงินให้ เลี้ยงลูกเป็นเทวดาให้เรียนอย่างเดียว วันหยุดเรียนพิเศษ เด็กเรียนหนังสือมีแต่ชีท ไม่มีตำรา.. แล้วคุรุสภาทำอะไร !? พิมพ์หนังสือมาเยอะแยะ” จบประโยคนี้เรียกเสียงปรบเสียงหัวเราะได้ดังไม่แพ้เดี่ยวไมโครโฟนเลยทีเดียว

ปัญหานี้แจ้งเกิดมานานแล้วในสำหรับระบบการศึกษาไทย แต่ดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาดูจะหลับหูหลับตา คล้ายหลอกตัวเองไม่ยอมรับความจริงก็ไม่ทราบได้ จึงยังไม่มีปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

ไม่ต้องมองไกลถึงเมืองหลวง หากเราหันมามองในเมือลำปาง จังหวัดเล็กๆ แต่ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีสถานบันกวดวิชาผุดขึ้นมาไม่ต่างกับดอกเห็ด

การศึกษาในปรัชญาที่ว่านักเรียนคือศูนย์กลางแต่ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ การปล่อยเด็กให้เรียนรู้ตามยถากรรม โดยครูไม่ได้ใส่ใจมากไปกว่า การเดินทางออกไปนอกสถานที่ในวันเวลาทำงานปกติ และกลับมาชดเชยขาดๆวิ่นๆ ในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือใช้เวลาหลวงเพื่อยกระดับวิทยฐานะของตัวเอง เพื่อตำแหน่งที่สูงขึ้น เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนที่มากขึ้น

หน้าที่ของครู ครูที่มีจิตวิญญาณในการทำงานเพื่อร่วมกันรดน้ำ พรวนดินให้หน่ออ่อนของการศึกษาระดับพื้นฐาน เป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งความรู้และคุณธรรมหายไปไหนหมด

หน้าที่ของสถาบันการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม หรือมัธยมต้น-ปลาย คือการบ่มเพาะการคิดอย่างมีระบบ มีทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ให้ความรู้ทางวิชาการแก่เยาวชนอย่างเหมาะสมตามวัย แต่กลับกลายเป็นว่าการศึกษาที่ให้โอกาสทั่วถึงเป็นการเรียนฟรีที่ไม่จริง เพราะมีค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ค่าคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซ่อนอยู่ ซึ่งถ้าบวกกับงบประมาณต่อหัวที่รัฐบาลสนับสนุนแล้ว รวมเป็นค่าเรียนที่แพงกว่าเดิมหรือไม่
 
โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อการศึกษาที่เด็กชั้น ป.6 สอบเข้าเรียนต่อในชั้น ม.1 เด็กชั้น ม.3 สอบเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.4 ในระบบสอบคัดเลือกที่แต่ละโรงเรียนต่างก็ต้องการคัดนักเรียนที่มีคุณภาพ ในขณะที่ผู้ปกครองต่างก็อยากให้ลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ เมื่อดีมานด์สูงกว่ากับซัพพลาย จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหาขึ้น หลายโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการเปิดห้องเรียนพิเศษผ่านระบบการสอบคัด ค่าเรียนก็แพงเป็นพิเศษด้วย เพื่อแลกกับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ในขณะที่ห้องเรียกปกติก็สอบเข้าและใช้นโยบายใกล้บ้าน หลายคนถึงกับย้ายชื่อลูกหลานเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านที่ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษนี้ เมื่อจำนวนนักเรียนมาก การดูแลจึงไม่ทั่วถึง
 
การแจกชีททั้งที่มีตำราพิมพ์ออกมามากมาย อย่างที่ หัวหน้า คสช.พูดถึงนั้นแทงใจดำเด็กเรียน ผู้ปกครองทั่วประเทศ  นับเป็นปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรม
 
อย่าได้แปลกใจเลยว่า เมื่อมีการสำรวจระดับการศึกษาของเด็กไทย โดยนิตยสาร The Economist ในจำนวน 40 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ที่อันดับ 37 ในขณะที่เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ประเทศในภาคพื้นเดียวกัน อยู่ในอันดับท็อบเทน!!

ก็เพราะความสับสนวุ่นวาย ภายใต้นโยบายรายวันของนักการเมือง

ถ้าตัดการเมืองออกไปจากวงจรอุบาทว์นี้ บางทีการศึกษาไทย อาจเงยหน้าอ้าปากได้บ้าง


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 991 ประจำวันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์