วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

ผนึก ‘บ้านหลุก’ รวม 3 จว. สร้างงานไม้รุกอาเซียน



ศูนย์ OSM ใช้งบ 300 ล้านสานข่ายเชื่อมโยงภาคเหนือ เผยโครงการตัวอย่างที่บ้านถวายเชื่อม หัตกรรมไม้ 4 จังหวัด ดึงจุดแข็ง บ้านหลุก บ้านทา และแม่ฮ่องสอน หวังผงาดในแข่งขันตลาดอาเซียน

นายวิรุฬ พรรณเทวี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (OSM) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด โดยบูรณาการแผนงานโครงการและงบประมาณ จนถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร และการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของกลุ่มจังหวัด เพื่อประโยชน์ ด้านการเชื่อมโยงการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีหลายโครงการที่ผ่านมาได้ดำเนินงานไปแล้วเช่น โครงการ เสริมสร้าง ปรับแต่งอัตลักษณ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างเสน่ห์การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน  โครงการเปิดตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยนำผู้ประกอบการด้านต่างๆไปจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการอาเซียน และญี่ปุ่น โครงการระบบโครงสร้างเมืองรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุดคือ  การจัดงาน ลานนาเอ็กโป 2014 เมื่อ 19-23 ก.ย.57 ที่ผ่านมา  เพื่อกระตุ้นโอกาสการขายในช่วงโลว์ซีซัน ให้จังหวัดในกลุ่ม ทั้งนี้โครงการต่างๆใช้งบประมาณราวปีละ 300 ล้านบาท

โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ตอนบน 1 และ 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งศูนย์กลางการปฏิบัติการประสานงานภูมิภาคกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรียกย่อว่าศูนย์ UNROCC เพื่อเป็นศูนย์กลางสื่อสารและปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในกลุ่มอาเซียนร่วมกัน เช่นกำหนดราคากลางขายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในราคาเดียวกัน ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการเปิดจุดผ่อนปรนชายแดนภาคเหนือเป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสของกลุ่มภาคเหนือตอนบนนอกจากนั้นยังตั้งศูนย์บริหารจัดการองค์ความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ และทรัพยากร (K.I.R.) เพื่อการอัพเดทฐานข้อมูลเพื่อรู้เท่าทันพร้อมกัน 

การเชื่อมโยงในรูปของกลุ่ม จังหวัด ต้องทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น เช่น ลำปางเก่งเรื่องเซรามิก ส่วนลำพูน เป็นหนึ่งเรื่องผ้าไหม ทำอย่างไรให้เอาผ้าไหมกับเซรามิกมาต่อยอด รวมกัน เช่น ทำเซรามิกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร แล้วเอาผ้าไหมมาเป็น ชุดรองจาน และอื่นๆ ให้เพิ่มมูลค่าสินค้า แทนการแข่งขันราคาเป็นต้น

นายชัยนรงค์ วงค์ใหญ่ หัวหน้างานกลุ่มยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด เผยในโอกาสนำสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมโครงการตัวอย่างในงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ที่หมู่บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 24 ก.ย. 2557 ว่า การขับเคลื่อนโครงการและงบประมาณต่างๆในกลุ่มภาคเหนือ โดยมุ่งเน้นการนำจุดเด่นของแต่ละจังหวัดมาเชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีศักยภาพ  ตัวอย่างเช่นหมู่บ้านถวาย เป็นจุดสำคัญที่พัฒนาในวงกว้าง ในรูปแบบเชื่อมโยงธุรกิจหลากหลายเข้าด้วยกัน และการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนร่วมกันให้การพัฒนายั่งยืน โดยได้จัดให้ บ้านถวาย มีงานถนนคนเดิน(ทุกวันศุกร์) มีการจัดตกแต่งสถานที่เพื่อดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวมิติใหม่ของการเที่ยวบ้านถวายในช่วงกลางคืน นอกเหนือจากการเที่ยวซื้อหาสินค้าทั่วไปในเวลากลางวัน ทั้งนี้จะพัฒนาบ้านถวายให้เป็นต้นแบบ แล้วขยายการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มที่มีศักยภาพเกี่ยวกับหัตถกรรมไม้ เช่น บ้านหลุก จ.ลำปาง บ้านทา จ.ลำพูนและ ที่แม่ฮ่องสอน ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เป็นต้น

นายวสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย เผยว่า การเชื่อมโยงธุรกิจในกลุ่มจังหวัด นับเป็นหนทางหนึ่งของการเพิ่มขีดความเข้มแข็งและศักยภาพของการค้าในระดับภูมิภาค ซึ่งขณะนี้บ้านถวายถือเป็นศูนย์กลางการค้า งานหัตกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ของประเทศไทย มีมูลค่าการค้าปีละ 800-900 ล้านบาท มีผู้ประกอบการในชุมชนกว่า 200 ราย และเอกชนที่มาตั้งธุรกิจในบ้านถวายอีกกว่า 100 ราย แรงงานฝีมือกว่า 100 คน แรงงานทั่วไปหลายพันคน สัดส่วนการขายในประเทศ 60 % อีก 40 % ขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ฐานลูกค้าเปลี่ยนจากกลุ่มยุโรปมาเป็นกลุ่มเอเซียและอาเซียน รวมถึงจีนซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดสำคัญ เพราะสินค้าจีนยังผลิตงานฝีมือสู้คนไทยไม่ได้ ผลิตภัณฑ์ไม้จากไทยจึงเป็นที่ต้องการ 

“ในส่วนของการเชื่อมโยงขณะนี้ได้ เกาะกลุ่มกันเพื่อรับออร์เดอร์ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มงานแกะสลัก บ้านหลุกลำปาง มีความโดดเด่นเรื่องไม้สัก ไม้อื่นๆ  บ้านทา ลำพูน มีงานไม้ฉำฉา และที่แม่ฮ่องสอนก็มีกลุ่มที่ทำงานไม้ เมื่อเชื่อมโยงกัน เรื่องวัตถุดิบ หรือการผลิต ส่งงานให้กันก็ส่วนๆไปเป็นโอกาสที่จะแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวายกล่าว 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 997 ประจำวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์