วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปฉบับตามใจฉัน


ยังไม่ทันขึ้นเวที ข้อเสนอปฎิรูปประเทศก็พรั่งพรูออกมามากมาย มากเสียจนน่าเป็นห่วงว่าที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้เวลาร่าง 4 เดือน กำหนดเสร็จภายในหนึ่งปี จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่หาแก่นสารอะไรไม่ได้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับตามใจฉัน ตามความคิดที่ผันแปรไปตามกาลเวลา เช่น การเสนอให้ลดจำนวนส.ส.จาก 500 คน ส.ส.เขต + บัญชีรายชื่อ เหลือ 77 คน จังหวัดละหนึ่งคน หรือกระทั่งข้อเสนอในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง

หาก ส.ส.เหลือเพียงจังหวัดละหนึ่งคน โคราชใหญ่เท่ากับสองจังหวัดรวมกัน ลำปางกว้าง 7 ล้านไร่ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภาคเหนือ สมุทรสงคราม มีสองอำเภอเล็กๆ ก็จะมี ส.ส.เท่ากัน ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะต้องการลดทอนอำนาจ ส.ส.ลง เพราะระบบแบ่งเขต ส.ส.ตามพื้นที่ ทำให้พรรคการเมืองสามารถยึดครองพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ ส.ส.คนเดียว หนึ่งจังหวัด จึงเป็นความฝันที่จะให้ประชาชนคัดคนที่ดีที่สุด ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากเขตเลือกตั้งใหญ่ ทุนใหญ่เท่านั้นที่จะมีโอกาส 

ชัยอนันต์ สมุทวณิช  ราชบัณฑิตและ อดีตอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมืองผู้ซึ่งแนบแน่นกับศาสดาบ้านพระอาทิตย์ เสนอความเห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ต้องการคนที่มีคุณภาพ แต่ระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันใช้กับคนที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดเป็นปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำให้คนมีคุณภาพ ไม่ถูกหลอกง่าย ไม่เห็นแก่เงินมากกว่าสิทธิ ไม่เชื่อข่าวลือง่ายและสนับสนุนคนอย่างไม่ลืมหูลืมตา
  
เขาได้เสนอการแก้ปัญหาทางการเมือง ว่าอยู่ที่การวางกรอบอำนาจให้การเมืองส่วนบนมากกว่าส่วนล่าง จึงจำเป็นต้องอุดช่องว่างของปัญหาการเมืองด้วยการลดอำนาจของ ส.ส.โดยลดจำนวน ส.ส.ให้เหลือเพียง 77 คน มาจากการเลือกตั้งภายในจังหวัดๆละ 1 คน ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าการทำหน้าที่ของ ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิค เรื่องวิชาการ จึงไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก และให้เน้นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาในท้องถิ่นมีคนในพื้นที่ดูแลได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบนี้ ส.ส.ก็ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่นลงอีกด้วย เพราะหากมีจำนวน ส.ส.เยอะ และมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น ก็จะควบคุมได้ยาก แต่หากเน้นงานท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น ประชาชนในท้องถิ่นจะเห็นได้ง่าย  

ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอให้ ประชาชนมีบทบาทแทน ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่คงเชิญชวนความเห็นแย้งไม่น้อย แต่การเลือกนายกฯก็จะเป็นประเด็นที่ทำให้อำนาจประชาชนมากขึ้น ถ้าตอบคำถามได้ การเลือกนายกฯโดยประชาชน ก็อาจเป็นเกราะป้องกันไม่ให้มีการยึดอำนาจโดยทหาร หรือแม้กระทั่งการยึดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง ผ่านรูปแบบเผด็จการรัฐสภา ที่ทำให้เราเจ็บปวดกันมาแล้ว

“..อำนาจอธิปไตยของปวงชน เป็นเรื่องทฤษฎีเสียมากกว่า ประชาชนไม่เคยได้รับอำนาจตัดสินใจสุดท้าย ทั้งนี้เป็นความผิดพลาดของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่ไม่สามารถทำให้กระบวนการทางการเมืองดำเนินจากล่างไปสู่บนตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ และแม้เดิมทีชนชั้นปกครองของไทยมีเจตนาที่จะมอบอำนาจให้กับประชาชนก็ตาม แต่นานวันเข้าชนชั้นปกครองซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ก็ห่างไกลจากประชาชนมากขึ้นทุกที”

พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้เหตุผลในการที่เขาเห็นว่า ประชาชนควรเข้าไปอยู่ใน “วงใน” คือการเข้าไปเลือกผู้นำของเขาด้วยตัวเอง 

นี่เป็นแนวทางในการปฎิรูปการเมืองฉบับตามใจฉัน ที่ต้องการปฎิรูปที่มาของฝ่ายบริหาร โดยเสนอให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเลือกฝ่ายบริหาร หรือนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ในทางทฤษฎีนี่เป็นการนำแนวคิดการพัฒนาทางการเมืองของนักรัฐศาสตร์อเมริกัน ฮันติงตัน ที่เสนอว่าการพัฒนาการทางการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างความเป็นสถาบันให้กับระบบ ฟังแล้วก็ยังงุนงงอยู่ว่า ความเป็นสถาบันและการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เรื่อง ส.ส.77 คน เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นคล้ายการฉายภาพอนาคตที่ไม่ยาวนานนักว่าความวุ่นวายไร้เอกภาพในความคิดปฎิรูปประเทศกำลังจะตามมา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1000 ประจำวันที่ 17 - 23  ตุลาคม  2557)


Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์