ไม่เพียงความเป็นพลเมืองชั้นสองเท่านั้น
หากแต่ข่าวชั้นสอง
อันมีความหมายถึงข่าวที่มักไม่ค่อยปรากฎในหน้าหลักของหนังสือพิมพ์
รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ก็มีอยู่ด้วย โดยเฉพาะข่าวเชิงคุณภาพ เช่น ข่าวเกี่ยวกับชุมชน
ข่าวสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าข่าวเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็ตาม
ใกล้เข้ามาสื่อท้องถิ่น ข่าวสิ่งแวดล้อมยิ่งคล้ายคนแปลกหน้า ผู้อ่านไกลเมืองใหญ่
ดูเหมือนยังคงสนใจข่าวประเภทเดียวกับสื่อกระแสหลักในเมืองใหญ่ ประเภทหัวสี
คือข่าวอาชญากรรม ข่าวชาวบ้าน
หากจะกล่าวว่า เป็นข่าวลูกเมียน้อยก็ไม่ผิดนัก
“ลูกเมียน้อย” คำจำกัดความที่นักข่าวสายสิ่งแวดล้อมใช้เรียกตัวเอง เพื่อนิยามสถานะของข่าวสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สื่อต่างๆของไทย
โดยเฉพาะในปัจจุบัน เพราะข่าวสิ่งแวดล้อมในพื้นที่สื่อส่วนใหญ่นั้น
ไม่มีหน้าหรือช่วงเวลาของตัวเอง อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหรือถูกนำเสนอ
หากไม่สัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ ที่คนสนใจ เช่น เรื่องการเมือง หรือ เรื่องเศรษฐกิจ
ข่าวสิ่งแวดล้อมในหน้าสื่อไทย
อาจถูกลดความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัด ย้อนหลังไปเมื่อสมัยเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกในปี
2540 เพราะข่าวสิ่งแวดล้อมจะเป็นโต๊ะข่าวแรกๆที่ถูกยุบ เพื่อพยุงสถานะทางการเงินของบริษัทผู้ผลิตสื่อ
ซึ่งผู้บริหารสื่อในปัจจุบันที่มีประสบการณ์ผ่านช่วงยุคทองของข่าวสิ่งแวดล้อม กระทั่งมองเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น
สามารถให้ภาพได้อย่างชัดเจนที่สุด
“ข่าวสิ่งแวดล้อมเป็นข่าวที่โดนตัดก่อนเพื่อน
เวลาที่มีการยกข่าว หรือเวลาที่มีการลดหน้าหนังสือพิมพ์ลง ก็ถือว่าเป็นลูกเมียน้อย
เพราะว่าก็จะต้องเลือกข่าวที่คนสนใจก่อน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมดูรุนแรงขึ้น แต่ข่าวสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความสนใจไม่มาก
ถ้าไม่มีการผูกติดกับประเด็นทางการเมือง” วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
รองผู้อำนวยการ ThaiPBSได้กล่าวไว้
เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม
ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว มองเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นช้า ผู้เสพข่าวในสังคมไทยจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก
ต่างจากข่าวอื่นๆที่ดูเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องปากท้อง เรื่องทำมาหากิน
ที่จับต้องได้ เห็นผลชัดเจน มีผลกระทบโดยตรง จึงได้รับความสนใจมากกว่า
โดยเฉพาะเรื่องฉาวข่าวคาว สังคมจะให้ความสนใจตามติดทุกวินาทีก็ว่าได้
แม้ว่าในวันนี้ สถานะของข่าวสิ่งแวดล้อม
จะยังคงเป็น “ข่าวลูกเมียน้อย” เหมือนในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไปลูกเมียน้อยก็เติบใหญ่ขึ้น
พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเรียกร้องและถามหาการดูแลรักษา เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะเกิดใกล้ตัวเห็นผลชัดเจน
และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับของการพัฒนาแห่งมวลมนุษยชาติที่เพิ่มขึ้น
จนในที่สุดสถานการณ์จะเป็นตัวบังคับเอง
ให้สื่อ ให้นักข่าว มาให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะว่ามันวิกฤติขึ้นทุกที
ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายมากขึ้นๆ จนกระทั่งในที่สุดจะเป็นเรื่องใหญ่มหาศาล
จนไม่มีใครละเลยกับมันได้อีกแล้ว
เราไม่ต้องมองไปหาปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน
ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปลาจำนวนมหาศาลช็อคตายตามฝั่งชายหาด เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
และสารพัดเหตุการณ์ทั่วโลก เพราะใกล้ตัวเรา ณ จังหวัดลำปาง ก็มีปรากฏการณ์ที่ธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม ฟ้องร้อง เรียกร้องความสนใจจากคนลำปาง
จากหน่วยงานลำปางเพื่อให้ความสนใจปัญหาและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง
หาใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบไฟไหม้ฟางไม่
ไม่ว่าจะปัญหาเรื้อรังอย่าง
หมอกควัน ที่ใกล้จะถึงวาระการเวียนกลับมาอีกครั้ง และลำปางเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่ประสบปัญหาหมอกควันอย่างหนัก
หลายครั้งที่ได้รับการบันทึกว่าหมอกควันหนาที่สุดในประเทศไทย ต้นเหตุของปัญหาที่บอกว่าเกิดจากการเผาป่า
เผาป่า และเผาป่า ในขณะที่แต่ละปีก็มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น เมื่อป่าไม่มีต้นไม้เก็บกักน้ำเก็บความชื้น
เมื่อฝืนไฟติดก็ย่อมนำมาซึ่งปัญหา
หรือแม้แต่ ปัญหาแม่น้ำวังกลางเมือง
สายเลือดใหญ่ของเมืองลำปาง
ที่หลายปีที่ผ่านมาทิวทัศน์แม่น้ำกลางเมืองอวดโฉมน้ำที่เขียวขจีด้วยวัชพืชปกคลุมผิวน้ำโชว์ที่นักท่องเที่ยวผ่านไปมา
ในขณะที่เจ้าบ้านกลับมองเป็นเรื่องธรรมดา จริงอยู่ว่าธรรมชาติเอื้อนเอ่ยด้วยวาจาภาษาไม่ได้
แต่ธรรมชาติฟ้องด้วยภาพความเน่าเหม็น ด้วยภาพการตื้นเขิน ไม่แตกต่างจาก ปัญหาจอกหูหนูที่เขื่อนกิ่วลม
เรื้อรังมานานจนจะครบปี แต่สิ่งที่เห็นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งที่การมองหาต้นธารของปมปัญหาก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะหากกำจัดด้วยการตักเราจะต้องใช้แรงงานแรงคนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ
มนุษย์ทำลายธรรมชาติ
แต่เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล พวกเขากลับหันหลังให้ ข่าวสิ่งแวดล้อมถูกบดบังด้วยข่าวชาวบ้าน
ด้วยข่าวที่ทำหน้าที่เพียงตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เท่านั้น