กุลธิดา
สืบหล้า...เรื่อง
เรื่องทั้งหมดอาจเริ่มต้นที่ตำบลนาแส่ง
อำเภอเกาะคา ซึ่งมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โฮโมอีเรคตัส หรือมนุษย์เกาะคา เป็นหลักฐานทางโบราณคดียืนยันถึงการมีอยู่ของมนุษย์เมื่อ
500,000
ปีก่อน ตามมาด้วยการค้นพบภาพเขียนสีและโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุ 3,000
ปี บ่งชี้ว่ามีคนบางกลุ่มมาใช้พื้นที่ดอยประตูผาประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์
นั่นคือกลุ่มคนในยุคแรก
ๆ ที่อยู่รายรอบเมืองลำปางของเรา
ครั้นเมืองเชียงแสนถูกตีแตกในปี
พ.ศ. 2347 ชาวเชียงแสนจำนวนมากพากันอพยพมาตั้งชุมชนอยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง จนกลายเป็นกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพล
ซึ่งเราจะเห็นได้จากศิลปะแบบเชียงแสนตามวัดวาอารามหลายแห่ง นอกจากนี้ เมืองลำปางยังมีขบวนพ่อค้าวัวต่าง
ซึ่งเป็นพ่อค้าเร่ชาวไทยใหญ่ ชาวฮ่อ ผ่านมาเป็นสีสันในบางคราว
ช่วงที่ผู้คนมีความหลากหลายมากที่สุด
คงเป็นยุคสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ที่เริ่มมีกลุ่มคนเข้ามาทำไม้ อย่างฝรั่งอังกฤษ
ชาวไทยใหญ่ ชาวพม่า และชาวขมุ
พูดถึงชาวตะวันตกแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
พวกเขาคือผู้นำสีสันการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ มาให้ชาวลำปางได้ตื่นเต้น ทั้งวัฒนธรรมการกินดื่ม
การอยู่อาศัยในบ้านใหญ่โต ขับรถโก้หรู และยังเปิดโลกแห่งกีฬาอย่างโปโล เทนนิส
และกอล์ฟ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สำหรับชาวพม่า
นี่คือกลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลแห่งย่านตลาดจีนยุคแรก ๆ ซึ่งเข้ามาในเมืองลำปางเพื่อช่วยงานด้านป่าไม้แก่ชาวอังกฤษ
พวกเขาเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณศูนย์กลางการค้าขายและคมนาคม
เพื่อสะดวกต่อการชักลากไม้และลำเลียงสินค้า นั่นก็คือย่านตลาดจีน
ริมแม่น้ำวังนั่นเอง ส่งผลให้ต่อมาชาวพม่ากลายเป็นคหบดีหลายต่อหลายคน
เศรษฐกิจการค้าอยู่ในกำมือของชาวพม่าจนกระทั่งชาวจีนไหหลำและชาวจีนแคะเริ่มเข้ามาพร้อมกับเรือสินค้า
โดยชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่มาถึงย่านตลาดจีนถือเป็นกลุ่มจีนเก่า สะสมทุนด้วยการรอนแรมในเรือหางแมงป่อง
ขึ้น-ล่องนำสินค้าจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ หรือกรุงเทพฯ ขึ้นมาขาย ทั้งยังนำเข้าสินค้าจากเมืองนอกสำหรับพวกฝรั่งอังกฤษที่เข้ามาทำไม้
กระทั่งสร้างฐานะจนเป็นเจ้าของตึกสวย ๆ ในย่านตลาดจีนเช่นเดียวกับคหบดีชาวพม่า หรือไม่ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอากรเก็บภาษีในท้องถิ่น
ยุคนั้นมองทางไหนก็เห็นแต่คนจีน จนชาวบ้านพากันเรียกย่านนี้ว่าตลาดจีนเสียเลย
เมื่อรถไฟขบวนแรกมาถึงเมืองลำปางในปี
พ.ศ. 2459
ความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายก็ตามมา ชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลมาทำการค้า
ดังจะเห็นได้จากตึกแถวแบบจีนปนฝรั่งย่านสบตุ๋ยที่ผุดขึ้นอย่างใหญ่โตอลังการ
ชาวจีนกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มที่สองที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในลำปางต่อจากกลุ่มดั้งเดิมที่ตลาดจีน
หมดยุคของย่านตลาดจีนไปแล้ว
เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่ตลาดเก๊าจาวเพราะอยู่ใกล้สถานีรถไฟ ย่านความเจริญแห่งใหม่
ขณะที่ในเมือง ธุรกิจการค้าก็ขยับขึ้นไปอยู่บนถนนทิพย์ช้างจนหมด
ราวปี
พ.ศ. 2473
ช่วงนี้เองที่ชาวอินเดียนับถือศาสนาซิกข์กลุ่มเล็ก ๆ เดินทางจากรัฐปัญจาบเข้ามาเผชิญโชคในประเทศไทย
เพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการแยกประเทศอินเดียและปากีสถาน
โดยผ่านทางพม่า แม่สาย จนมาถึงลำปาง ในตอนนั้นพวกเขาต่างเห็นว่า ลำปางคือศูนย์กลางทั้งด้านการค้าและการคมนาคมที่เฟื่องฟูที่สุดในภาคเหนือไม่นับเชียงใหม่
น่าจะลองทำการค้าสักอย่างที่เมืองลำปางยังไม่มี
กล่าวกันว่า
วารียาม ซิงห์ พร้อมด้วยพี่น้อง ได้แก่ ยากัต ซิงห์ และดาลีป ซิงห์
คือคนอินเดียกลุ่มเล็ก ๆ นั้น และเป็นกลุ่มแรกที่เดินทางมาลงหลักปักฐานบนถนนทิพย์ช้าง
ด้วยการเปิดร้านขายผ้าจากอินเดีย เล่ากันว่า ขายดีชนิดที่ชาวบ้านจากอำเภอรอบนอกจะมาเคาะประตูให้เปิดร้านตั้งแต่ตีสามตีสี่
วารียาม
ซิงห์ บุกเบิกธุรกิจขายผ้าบนถนนทิพย์ช้าง กระทั่งถนนเส้นนี้กลายเป็นแหล่งรวมร้านขายผ้าของชาวอินเดียทั้งที่นับถือศาสนาซิกข์และศาสนาฮินดู
เขายังเป็นผู้นำในการสร้างวัดซิกข์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอินเดียในลำปาง
และเป็นการบอกกล่าวให้รับรู้ว่ามีชุมชนชาวอินเดียเกิดขึ้นที่นี่แล้ว
เมื่อลู่ทางการค้าผ้าไปได้สวย
ก็ย่อมดึงดูดชาวอินเดียจากรัฐปัญจาบให้อพยพตามกันมาเรื่อย ๆ ได้แก่ ตระกูลจาวาลา
(ร้านมงคล) ตระกูลสินธุเขียว (ร้านแพรไหมและแพรทอง) และตระกูลโซนี (ร้านวันชัย)
จนกระทั่งกลายเป็น 3
ตระกูลหลักที่เปิดร้านขายผ้าบนถนนทิพย์ช้าง
ชาวอินเดียในเมืองลำปางมีทั้งกลุ่มที่มาจากรัฐปัญจาบ
ซึ่งจะพูดภาษาปัญจาบี ขณะบางคนจะพูดภาษาฮินดี ซึ่งเป็นภาษากลาง
พวกเขายังคงรับข่าวสารจากประเทศอินเดีย และมีค่านิยมในการส่งลูกหลานไปเรียนที่อินเดียตั้งแต่ยังเล็ก
เพื่อคงไว้ซึ่งรากเหง้าของตนเอง ศาสนา และที่สำคัญ ยังได้เปรียบทางด้านภาษาด้วย
นอกจากนี้ พวกเขายังยึดมั่นในสายสัมพันธ์ชาวอินเดีย
โดยมีมิตรอยู่ทุกจังหวัดในภาคเหนือ หรือแม้แต่ที่กรุงเทพฯ ก็รู้จักกันอย่างทั่วถึง
จะเห็นได้ว่า
เมืองของเรามีพื้นเพมาจากกลุ่มคนที่แตกต่าง ซึ่งเติมเต็มให้กันและกัน
นี่กระมังที่ทำให้เมืองขับเคลื่อนไปได้ และกลายเป็นเสน่ห์ตราบใดที่เราต่างเคารพในวิถีทางของแต่ละคน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 1000 ประจำวันที่ 17 - 23 ตุลาคม 2557)