วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธ.ก.ส.ยืดชำระหนี้ ปล่อย400ล้านสู้ภัยแล้ง


คลายทุกข์เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ธ.ก.ส.ขยายเวลาชำระหนี้ - ให้สินเชื่อระยะสั้น และ สินเชื่อระยะยาว วงเงินงบประมาณ 400 ล้านบาท   ด้านเกษตรกรครวญไม่มีน้ำใช้ช่วงฤดูแล้ง ปลูกพืชไม่ได้ ขายรายได้หลักจุนเจือครอบครัว  หวังจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อได้รับความช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 58  ที่โรงแรมเอเชียลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง นายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานการประชุม ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรที่ ประสงค์เข้าร่วมโครงการ สินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ใน 3 มาตรการหลัก โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 300 ราย หลังจากที่เกษตรกรทั้งหมดได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแล้ง และเป็นพื้นเขตประกาศพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน 36 จังหวัด ส่งผลทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอ ในการชำระหนี้และการใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่ออุปโภคบริโภคระหว่างการชะลอผลผลิต และเกษตรกรบางส่วนจำเป็นต้องพื้นฟูการผลิตหลังจากประสบภัยแล้ง คณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 36 จังหวัดโยจัดสรรเงินทุนกว่า 60,000 ล้านบาทเข้าไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประสบภัย แต่ต้องมีการทำความเข้าใจและชี้แจ้งเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ได้  สำหรับที่จังหวัดลำปางนั้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณในวงเงิน 400 ล้านบาท

นางจุราพร จันทร์ขาว ผู้อำนวยการ สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร     (ธ.ก.ส.) จังหวัดลำปาง กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 ทำให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร ของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชผลชนิดอื่นๆ ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภค ธ.ก.ส. จึงได้จัดโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ใน 3 มาตรการหลัก

มาตรการที่ ขยายเวลาชำระหนี้เดิม โดยผ่อนคลายขยายเวลาชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระออกไป 9 เดือน สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน  สำหรับผู้ที่ผลผลิตได้รับความเสียหายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่สามารถเพาะปลูกได้ซึ่งมีลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปางที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ 10,700 ราย  กรณีเป็นสหกรณ์การเกษตร ปรับตารางชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 12 เดือน ,มาตรการที่ สินเชื่อระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เตรียมงบประมาณไว้ 30,000 บาท  จะแยกเป็น 3 ช่วง คือ กู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระหว่างประสบภัย(ฉุกเฉิน) เป้าหมายลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง 5,000 ราย วงเงินรายละไม่เกิน 10,000 บาท รวม 100 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน  โดยใน 3 เดือนแรกคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 4 คิดดอกเบี้ยตามอัตรา MRR ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7)   , สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูการผลิตหลังประสบภัย(ฟื้นฟู)เป้าหมาย ลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง 5,000 ราย  วงเงินรายละไม่เกิน 20,000 บาท รวม 100 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 18 เดือน  คิดดอกเบี้ย MRR ต่อปี  , สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูการผลิตของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร  เป้าหมายสหกรณ์ลำปาง 8 แห่ง วงเงินรายละไม่เกิน 20,000 บาท กำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน คิดดอกเบี้ย MLR-1.25 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 5 ) และมาตรการที่ สินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตร เป้าหมายลูกค้า ธ.ก.ส.ลำปาง 2,000 ราย กู้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท กำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี มีปลอดชำระต้นได้ใน 3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษ อัตรา MRR-2 ต่อปี  เตรียมวงเงินสำหรับ จ.ลำปาง 200  ล้านบาท  เกษตรกรที่มีปัญหาความเดือดร้อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส.จังหวัดลำปาง หมายเลขโทรศัพท์ 0 5432 3337  นางจุราพร กล่าว

ผอ.ธ.ก.ส.ลำปาง  กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ลำปางได้ช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนัก 3 มาตรการ คือ 1) ปลดเปลื้องหนี้” ให้ในรายที่ไม่มีศักยภาพ เจ็บป่วยเรื้อรังชราภาพ 2) ปรับโครงสร้างหนี้” ในกรณีรายที่มีศักยภาพต่ำ และ 3) ขยายเวลาชำระหนี้” ลูกค้าที่ประสบภัยไม่ได้ปลูกข้าว ราคายางพาราตกต่ำ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้

โอกาสนี้ ได้มอบรางวัลให้ตัวแทนเกษตรกรคนเก่งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ 1 แห่ง ฝายต้นน้ำ-ฝายชะลอน้ำรวม 544 แห่ง งบประมาณ 9 ล้านเศษ และมอบชุดคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ให้กับกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 13 กองทุน มูลค่า 325,000 บาท

ขณะที่เกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ขาดน้ำในการเพาะปลูก และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำอย่างจริงจัง

นายคำมูล การเพียร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนแก้ว หมู่ 8 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง  เปิดเผยว่า ในหมู่บ้านของตนมีทั้งหมด 232 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ในหมู่บ้านมีประมาณ 700 ไร่  ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก มีเพียงแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ทาง สปก.เข้ามาพัฒนาให้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในตอนนี้จึงไม่สามารถเพาะปลูกได้ ถึงแม้ว่าจะมีแม่น้ำวังไหลผ่านแต่เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่สูงกว่าแม่น้ำ จึงสูบน้ำมาใช้ไม่ได้อีก ชาวบ้านต้องการให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำวังขึ้นมาใช้ทำการเกษตรได้  ในช่วงนี้ที่เป็นฤดูทำนาชาวบ้านไม่มีน้ำเข้านา ต้องใช้วิธีทำนาโดยการหว่านแห้ง โดยใช้รถไถดินให้ร่วนแล้วหว่านเมล็ดข้าวลงไป จากนั้นก็ไถกลบอีกครั้ง และรอน้ำจากฝนที่ตกลงมาทำให้ดินชุ่มน้ำต้นข้าวจึงจะงอกออกมาได้  ซึ่งวิธีการนี้ก็ได้ผลเป็นอย่างดี แต่หลังจากทำนาเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวบ้านก็จะไม่สามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆได้เลย ทำให้ขาดรายได้หลักที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว  และตอนนี้ทางอำเภอก็ได้มาสำรวจความเดือดร้อน เพื่อเสนอให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว

ส่วนที่ อ.เสริมงาม  นางปริตา ขัดผาบ ชาวบ้านน้ำหลง หมู่ ต.เสริมซ้าย  อ.เสริมงาม  กล่าวว่า ในพื้นที่จะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำตอนล่าง และอ่างเก็บน้ำแม่พอก แต่น้ำมีไม่เพียงพอ เพราะต้องใช้กันหลายหมู่บ้าน  ชาวบ้านที่ปลูกพืชไปแล้ว เช่น ถั่ว ข้าวโพด ก็ยืนต้นตายไปจำนวนมาก ต้องสูญเงินลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท  ซึ่งปัญหาแล้งแบบนี้ไม่เคยเกินมานานตั้งแต่ปี 2540 ถ้านับมาจนถึงปีนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ที่อยู่มานานบอกว่าเป็นความแห้งแล้งที่สุดในรอบ 80 ปี   ตอนนี้ชาวบ้านได้แต่รอให้จังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาเข้ามาบ้าง โดยชาวบ้านได้ไปลงชื่อเพื่อยื่นขอประกาศภัยพิบัติแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1038  วันที่ 24 - 30  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์