วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เมื่อฝนหลวงหยาดริน


ช่วงนี้คนลำปางได้ยินเสียงเครื่องบินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้า เครื่องบินปีกตรึงลำสีขาวคาดเขียวกำลังทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้นในการปล่อยสารฝนหลวงเพื่อก่อกวนเมฆ สารฝนหลวงจะช่วยให้เมฆมีการควบแน่น เจริญเติบโต หรือเรียกว่าเลี้ยงให้อ้วน ก่อนเข้าสู่การโจมตี ซึ่งจะทำเมื่อเมฆรวมกลุ่มกันหนาแน่น มีความชื้นสูง และมีโอกาสตกเป็นฝนได้ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้ประสบการณ์สูง
           
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ (เชียงใหม่) โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงเดินหน้าทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่เป้าหมายหลักในช่วงนี้ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งก็ทำให้เมืองลำปางของเรามีฝนตกลงมาบ้างแล้ว
           
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2498 คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเห็นความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ทั้งที่ทรงสังเกตว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่กลับไม่สามารถรวมตัวกันได้ พระองค์ทรงคิดว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อตัวจนเกิดเป็นฝน
           
หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสารด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศจนทรงมั่นพระราชหฤทัย จุดเริ่มต้นของโครงการพระราชดำริฝนหลวงถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง

ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆที่สูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ทำให้กลุ่มเมฆทดลองรวมตัวกันหนาแน่นและก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลภาคพื้นดินยืนยันว่าเกิดฝนตกลงมาจริง ๆ บ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

นับจากวันนั้น การพัฒนาการทำฝนหลวงก็เกิดขึ้นเป็นลำดับมาอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นพร้อมกันในกลุ่มเมฆเดียวกัน ทั้งนี้ ทรงสรุปขั้นตอนกรรมวิธี ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี เป็นแผนภาพการ์ตูนโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้ใช้เป็นตำราฝนหลวง เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ ส่วนผสมของสารเคมีต่าง ๆ ที่จะช่วยเร่งปฏิกิริยาให้ฝนตกได้รวดเร็วและตรงเป้าหมายก็ยังเป็นเรื่องที่คณะทำงานพัฒนาอย่างมาก โดยแต่ละสูตรได้รับการคิดค้นและใช้งานมาจนมั่นใจ ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่จะวิเคราะห์อากาศทุกวัน โดยจะประชุมร่วมกับนักบินและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ในการทำฝนหลวง ส่วนการเลือกใช้สารฝนหลวงแต่ละชนิดจะพิจารณาตามคุณสมบัติประกอบกับสภาวะของเมฆ หรือบรรยากาศในแต่ละวันเป็นสำคัญ ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจึงต้องผสมสารฝนหลวงเพื่อให้ได้สูตรที่ต้องการในการทำฝนหลวงเฉพาะวันนั้น ๆ

ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว เมฆลอยกระจายเต็มฟ้า แผนที่อากาศและทิศทางลมในจอมอนิเตอร์จากดาวเทียมแสดงให้เห็นถึงพื้นที่เป้าหมายว่ามีความเหมาะเจาะอย่างยิ่งในการทำฝนหลวง ประกอบกับมีหลายพื้นที่แจ้งความจำนงขอความช่วยเหลือมาว่า ทางการเกษตรนั้นกำลังย่ำแย่เต็มทีเนื่องจากภัยแล้ง

สารฝนหลวงถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบิน ตรวจสอบทิศทางลมเรียบร้อย นักบินและช่างเครื่องตรวจความเรียบร้อยของเครื่องเสร็จ ไม่กี่นาทีต่อมา เครื่องบินสีขาวคาดเขียวก็แท็กซี่ไปบนรันเวย์ ก่อนจะพุ่งทะยานขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อเริ่มต้นภารกิจของวัน...

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะพูดว่า ปี พ.ศ. 2558 กำลังจะเป็นปีที่แล้งจัดที่สุดในประวัติการณ์ ปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่เพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารนั้น เราก็รู้กันอยู่ว่าได้สูญเสียป่าไปแล้วจำนวนมหาศาล ถ้าทฤษฎีใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ป่าทำให้เกิดฝนตก จริง ๆ แล้วล่ะก็ นี่คงเป็นคำตอบว่า ทำไมบ้านเราฝนจึงตกน้อยลง
ขณะเดียวกันก็คงชี้ทางสว่างได้บ้างว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งไม่ใช่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้วไปทำลายป่า นักวิชาการเสนอว่า ควรเป็นการสร้างพื้นที่แก้มลิงในพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำหลากเพื่อกักเก็บน้ำ และสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการใช้ภายในพื้นที่ของตัวเองมากกว่า
           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1036 วันที่ 10-16  กรกฏาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์