วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เหยื่อแม่เมาะสิ้นชีพอีกราย ยังไม่ทันใช้ชดเชย ชาวบ้านอยากย้ายหนีโรงไฟฟ้าใหม่


เหยื่อมลพิษแม่เมาะสิ้นลมอีกราย ได้รับเงินค่าชดเชยตามคำสั่งศาลมาพียง 4 เดือน  ไม่ทันได้ใช้เยียวยาตัวเอง  ขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกนับร้อยที่ได้รับผลกระทบต้องการย้ายออกจากพื้นที่ ยังไม่มั่นใจโรงไฟฟ้าโรงใหม่ที่สร้างใกล้หมู่บ้าน กลัวซ้ำรอยเดิม
           
จากกรณีที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 131 ราย ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ กรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยทางผู้ฟ้อง 131 คน ได้ยื่นฟ้องว่าทาง กฟผ. ละเลยไม่ควบคุมบำบัดฝุ่นหิน ฝุ่นละออง และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง ป่วยเป็นโรคนิวโมโคนิโอซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นหิน  โรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงวันฟ้อง จนกระทั่งวันที่ 25 ก.พ.58  ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้อง ภายใน 60 วัน  พิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้ฟ้องรายนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.แม่เมาะจริงเป็นสำคัญ โดยผู้ฟ้องที่อยู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาช่วงเดือน พ.ย.2535 ถึง เดือน ส.ค.2541  ให้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 8  ส.ค. 58 นางส่ง อ่อนยิ้ม  อายุ 84 ปี  ราษฎรบ้านสบเติ๋น ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ยื่นฟ้องคดี กฟผ.แม่เมาะ จำนวน 131 ราย  ได้เสียชีวิตลง หลังจากที่ได้ร่วมต่อสู้มายาวนานกว่า 12 ปี  โดยนางส่งได้รับเงินค่าชดเชยจำนวน 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์  แต่ต้องเสียชีวิตลงหลังจากได้รับเงินจาก กฟผ.เพียง 4 เดือนเท่านั้น

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า ถึงแม้ว่านางส่ง จะเสียชีวิตด้วยวัยชรา 84 ปี แต่ที่ผ่านมาได้อยู่มาอย่างทุกทรมานจากอาการป่วยมานาน และได้ร่วมต่อสู้กับพวกเรามาจนถึงที่สุด ตั้งแต่ปี 2546 จนมาถึงในปี 2558 ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กฟผ.จ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน เป็นเวลาร่วม 12 ปีแล้ว  ซึ่งนางส่งได้รับเงินค่าชดเชยจาก กฟผ.ไปเพียง 2 แสนกว่าบาท แต่ยังไม่ทันได้ใช้เงินมาช่วยเยียวยารักษาตัวเองก็เสียชีวิตไปเสียก่อน 

นางมะลิวรรณ กล่าวต่อไป  ในตอนนี้ยังมีชาวบ้านอีกหลายครอบครัวที่ต้องการจะย้ายออกมา หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กฟผ.อพยพชาวบ้านที่อยู่ในรัศมี ก.ม.  ชาวบ้านได้แต่รอความหวังว่าคำพิพากษาครั้งนี้จะคุ้มครอง  แต่ปรากฏว่า กฟผ.ก็ได้ยื่นแก้ไขมาตรการอีก  ในขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ก็ไม่มั่นใจถึงระบบการทำงานของโรงไฟฟ้าว่าจะไม่ปล่อยสารพิษออกมา และยังเป็นกังวลกับเรื่องนี้มากเพราะเกรงว่าตนเองจะได้รับผลกระทบด้วย

นางปราณี อินปัญโญ  ชาวบ้านสบจาง ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ  กล่าวว่า บ้านที่ตนเองอยู่เลยจากขอบเหมืองมา 1 กิโลเมตร  แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากฝุ่น ทั้งในเรื่องสุขภาพ และพืชผลทางการเกษตร  เพราะสาเหตุเกิดจากลมที่พัดพาฝุ่นมา  ไม่ใช่ว่าห่างจากรัศมีขอบบ่อเหมือง 5 กิโลเมตรแล้วจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถหยุดลมได้ ตอนนี้จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านในหลายหมู่บ้านได้ 69 ราย  เพื่อจะขอความช่วยเหลือให้ทางท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง สิ่งที่ต้องการก็คือย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งทาง กฟผ.ก็บอกว่าไม่ได้อยู่ในกฎหมายที่จะต้องอพยพรัศมี 5 กิโลเมตร หากว่าไม่มีใครช่วยเหลือได้จริงๆ คงต้องพึ่งศาลเช่นกัน

ด้านนางเกี๋ยงคำ มติธรรม ราษฎรบ้านสบป้าด  ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ  กล่าวว่า ตนเองเป็นหนึ่งในกลุ่ม 131 คนที่ร่วมต่อสู้มา และได้รับค่าชดเชยจาก กฟผ.แม่เมาะตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการในตอนนี้คือ การย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากบ้านของตนอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร  เดิมที่ไม่ได้มีการย้ายออกไป เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้กลัวว่าจะได้รับการดูแลไม่ดี ดูจากกลุ่มที่ย้ายออกไปแล้วบ้างก็ไม่มีไฟฟ้าไม่มีน้ำประปาใช้  แต่เมื่อได้รับผลกระทบที่ชัดเจนชาวบ้านเกือบ 200 หลังคาเรือน ก็ต้องการย้ายออก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะได้ย้ายไป ที่ผ่านมาทาง กฟผ.ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือมากนัก มีเพียงนำยามาแจกจ่ายให้ชาวบ้านเท่านั้น  ทุกวันนี้ตนก็ยังป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ มีอาการเวียนศีรษะ   นอกจากนี้ก็ยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ใกล้กับหมู่บ้านของตนอีก ซึ่งตนไม่เชื่อในระบบทันสมัยต่างๆที่บอกว่าจะไม่มีสารพิษ เพราะเคยพบเจอมาแล้ว เราเรียนมาน้อยไม่ได้จบสูงเหมือนเขา เขาจะพูดอะไรก็ได้คนอื่นก็เชื่อหมด   สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือการอพยพออกจากพื้นที่ อยากไปสูดอากาศบริสุทธิ์ อากาศที่ปลอดโปร่ง  ไม่อยากอยู่ในที่หายใจไม่ออก ท้องฟ้ามืดครึ้มอีกแล้ว  

อย่างไรก็ตาม  การยื่นขอแก้ไขมาตรการใหม่ทั้ง ข้อของ กฟผ.แม่เมาะ ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ว่าจะเห็นชอบตามคำขอแก้ไขหรือไม่ ในขณะที่ชาวบ้าน ยังรอความหวังว่าจะได้รับการอพยพตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1041 วันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์