วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พลิกกฎหมายพิฆาตสื่อ ตอนจบ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

สัปดาห์ก่อนเล่าสู่กันฟัง เรื่องกฎหมายคุมสื่อฉบับล่าสุด ที่ยังไม่ได้เปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะ ฉบับนี้ว่ากันต่อถึงโครงสร้างและที่มาของ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งยึดโยงอยู่กับองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ ไม่ได้มีโครงสร้างเช่นกฏหมายสภาวิชาชีพเดิมในยุคก่อน ที่มีตัวแทนอำนาจรัฐโดยตำแหน่งเข้าไปนั่งร่วมอยู่ในคณะกรรมการ
           
เจอพรรคพวกเพื่อนฝูง ที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันก่อน เล่าให้ฟังว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ไปให้พิจารณา เพื่ออย่างน้อยอาจมีหลักประกันว่าต่อไปนี้การกำกับ ดูแลสื่ออาจจะมีผล ด้วย “สภาพบังคับ” ตามกฎหมาย เขารับปาก แต่ “จอกอ” ไม่แน่ใจ มิใช่เพราะ สนช.จะไม่โหวตผ่าน แต่หวั่นใจว่า องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลาย คงต่อต้านกันสุดกำลัง เพียงรู้ว่าจะมีการตรากฎหมายออกมาควบคุมสื่อ รายละเอียดของกฎหมายจะแตกต่าง หรือเหมือนกับกฎหมายยุคเดิมหรือไม่ ไม่สนใจ
           
ทั้งที่การได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็มาจากองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
           
มาตรา 21 ของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน กำหนดว่า ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งจำนวนเจ็ดคน ทำหน้าที่สรรหาบุคคลที่สมควรเป็นกรรมการ ประกอบด้วย นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ  และผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
           
กรรมการตามมาตรา 26 มีอำนาจ บริหารกิจการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานกลาง พิจารณา ตักเตือน ปรับ หรือแก้ไขข้อความอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่าองค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เผยแพร่ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิก การจดทะเบียนสมาชิก
           
การออกและการเพิกถอนใบรับรองสมาชิก การพ้นสมาชิกภาพของสมาชิก การส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการของสื่อมวลชน การประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน การประชุมใหญ่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน การดำเนินคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน
           
การบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การเงิน การพัสดุ และการจัดการทรัพย์สิน และการอื่นใด ที่จำเป็นในการบริหารงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ พิจารณาเรื่องร้องเรียน ในกรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน และมีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชนมายังคณะกรรมการ กำกับดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไปของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
           
กฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดมาตรฐานจริยธรรม เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่ง “จอกอ” มีส่วนยกร่าง โดยมาตรฐานกลางอย่างน้อยต้องมี การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นส่วนตัว และการคุ้มคร องสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม
           
ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบเคราะห์กรรม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างกลุ่มคนในชาติหรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
           
การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นไปอย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคล หน่วยงานรัฐ เอกชน หรือองค์กรใดๆในทางที่มิชอบ การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เรียก รับ หรือยอมรับผลประโยชน์ใดๆ อย่างมิชอบ
           
การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสาร จะต้องมีผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสรที่ผิดพลาดหรือก่อให้เกิดผลกระทบ จะต้องแสดงความรับผิดชอบและประกาศการแก้ไขข้อบกพร่องต่อสาธารณชนในทันที
           
กฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทและความสำคัญมากเช่นกัน
           
คงได้พูดถึงและอธิบายความในวาระต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1084 วันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์