วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไฟหน้าแสนรู้ ตอนที่ 2

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ฉบับที่แล้วเขียนถึง โคมไฟที่มีระบบปรับได้ทั้งขนาดและทิศทางของลำแสง เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

ถ้าผู้ขับต้องการเห็นผิวถนน ลำแสงจากโคมไฟหน้าจะต้องพุ่งลงด้านล่างมากกว่าปกติ การปรับลำแสงจากโคมไฟให้เปลี่ยนทิศนั้นไม่ยากครับ ใช้มอเตอร์ขนาดเล็กปรับระดับสูงต่ำของเลนส์ หรือไม่ก็ปรับมุมของเลนส์ แต่การจะให้ระบบควบคุม รู้ ว่าถนนด้านหน้าเชิดขึ้นหรือลาดลง ต้องใช้กล้องถ่ายภาพในการวัดตำแหน่งที่ลำแสงตกสู่ผิวถนนหน้ารถ ว่าใกล้หรือไกลเกินไปหรือเปล่าเมื่อเทียบกับระยะที่เหมาะสมและปลอดภัย 

ใครที่เดินทางไกลกลางคืนเป็นประจำบนถนนระหว่างเมืองเล็กที่ไม่มีเกาะกลางถนนแบ่งฝ่าย จะทราบดีว่าการเปลี่ยนสลับไปมาระหว่างไฟสูงและไฟต่ำ เมื่อมีรถขับสวนมาเป็นระยะนั้น ทำให้เราเหนื่อยและเครียดได้ไม่น้อย ปัญหานี้ผู้ผลิตโคมไฟหน้าให้บริษัทรถยนต์ รวมทั้งบริษัทรถยนต์เองก็ทราบมานานแล้วครับ แต่ต้องรอเทคโนโลยีอื่นให้พร้อมต่อการรองรับ ในการพัฒนาไฟหน้าที่สามารถใช้ไฟสูงได้ตลอดเวลา โดยผู้ขับไม่ต้องคอยเปลี่ยนเป็นไฟต่ำและขณะนี้ก็ถึงเวลาที่ว่านี้แล้ว 

รุ่นแรกที่ผมจำได้จะมีให้เลือกใช้ใน เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ ที่เริ่มออกขายในยุโรปอยู่ขณะนี้ กล้องถ่ายภาพด้านหน้าของรถ จะวัดตำแหน่งของรถที่ขับสวนทางมา แล้วส่งข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ เพื่อปรับมุมลำแสงของโคมไฟหน้าให้ส่องสว่างได้ไกลที่สุด โดยที่แสงจะไม่เข้าตาผู้ขับคันใกล้ที่สุดที่สวนทางมา เป็นการปรับอย่างต่อเนื่อง ไม่มีตำแหน่งตายตัว สูง กับ ต่ำ แบบเดิมครับ พูดง่ายๆก็คือ ระบบนี้มีไฟสูงที่ลดระดับได้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่สูงสุด (ไกลสุด) ลงมาจนกระทั่งกลายเป็นไฟต่ำ ถ้าชอบต้องเตรียมเงินไว้เสริมครับ เพราะบริษัทรถเยอรมัน ไม่ใช่เฉพาะแต่รายนี้ (ที่หนักสุดดูเหมือนจะเป็น ปอร์เช) หารายได้จากอุปกรณ์เสริมให้เลือกกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใครเลือก กาแบบไม่ยั้งในแค๊ตตาลอค ตอนบวกราคาเสร็จอาจจะ ลมใส่หรือเกินงบประมาณที่มีอยู่ได้ง่ายๆ 

ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ จะรับข้อมูลล่าสุดจากกล้อง แล้วปรับมุมของลำแสงได้ทุกๆ 4 ใน 100ส่วนของวินาที หรือวินาทีละ 25 ครั้ง รวดเร็วขนาดที่เราเรียกได้ว่าเป็นแบบปรับต่อเนื่องได้และถ้าใช้ความเร็วสูงมาก อย่างในบางประเทศที่อนุญาต ระบบปรับไฟสูง ก็จะปรับระยะส่องสว่างให้เหมาะกับความเร็วที่ใช้ด้วย คือ ยิ่งเร็ว ยิ่งส่องไกลขึ้น มาดูระยะทำงานของไฟหน้ารถรุ่นล่าสุดกันครับ ผมขอเรียงโดยไม่จัดลำดับความ สำคัญดังนี้ ไฟต่ำ 0-50 กม./ชม. ไฟเลี้ยวทางแยก 0-70 กม./ชม. ไฟเลี้ยวโค้ง 0-250 กม./ชม. ไฟไฮเวย์หรือไฟความเร็วสูง 110-250 กม./ชม. ไฟตัดหมอก 0-110 กม./ชม. 

ถ้าไม่หวังอะไรมาก ก็ดูเหมือนจะเป็นระบบส่องสว่างสำหรับรถยนต์ที่ยอดเยี่ยมแล้ว แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงหลักการทำงาน กลไกสำหรับปรับลำแสงจากโคมไฟแบบซีนอน ซึ่งล้วนต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับกลไก เราจะเห็นทันทีว่ายังมีข้อกำหนดอยู่มากเหมือนกันตั้งแต่อายุใช้งานของมอเตอร์ไฟฟ้า และความไว้วางใจได้ ความเร็วในการปรับที่ยังขึ้นอยู่กับการทำงานของมอเตอร์ มุม และระดับของเลนส์ที่ถูกปรับ ก็ยังมีค่าไม่มากเท่าที่ต้องการ 

ปัญหาทั้งหมดนี้แก้ได้ด้วยการใช้ไดโอดส่องแสง หรือที่พวกเราคุ้นเคยกันในชื่อ เอลอีดีติดตั้งเป็นแผงเต็มขนาดโคมไฟ เราสามารถเลือกรูปแบบ และความสว่างของลำแสง ได้มากมายจำนวนนับไม่ถ้วน โดยการเลือกปล่อยกระแสไฟฟ้าไปสู่แอลอีดี เหล่านี้ แทบ ไม่ต้องใช้เวลาในการปรับเลย ไม่มีมอเตอร์ และกลไกให้เปลืองพลังงาน หรือสึกหรอหรือชำรุด อายุใช้งานของไดโอดเหล่านี้ก็สูงมาก 

นี่คือไฟหน้าสำหรับวันนี้สำหรับรถแพงหน่อย และอนาคตสำหรับรถจ่ายตลาดครับ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1092 วันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์