วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

มายาคติกฎหมายคุมสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ระบวนการปฏิรูปสื่อในยุค คสช.ได้เดินทางมาถึงจุดหมายหนึ่ง ที่อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนพอสมควร นั่นคือการจัดการให้มีหลักประกันที่ชัดเจน และวางใจได้มากขึ้น กรณีที่ประชาชนถูกละเมิดโดยสื่อมวลชน
           
หลักประกันเช่นว่านั้น คือการออกแบบให้มีการกำกับชั้นที่สาม ในรูปของ”คณะกรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่ออย่างน้อยให้มี “สภาพบังคับ” แต่เป็นสภาพบังคับเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม หลังจากที่องค์กรสื่อมวลชน ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้กับผู้ถูกละเมิดได้ หรือหลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้ดำเนินการสอบสวนจนครบถ้วนกระบวนความแล้วแต่ยังไม่เป็นที่ยุติ
           
โดยนัยนี้ คณะกรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ก็จะทำหน้าที่คล้ายศาลสูงในการตัดสินคดีความที่ยังมีข้อโต้แย้งกันในศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการจัดการสื่อที่ละเมิด
           
และถึงแม้ว่าจะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนโดยตรงต่อคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่องค์กรสื่อเสมอ ซึ่งถือเป็นการกำกับชั้นที่ 1 จากนั้น จึงไปที่สภาวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นการกำกับชั้นที่ 2 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ในหลักการกำกับ ดูแลกันเอง
           
การกำกับดูแล “กันเอง” ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ  โดยใช้มาตรการทางสังคมนั้น ถือว่าดีที่สุด แต่ความจริงที่ยากจะปฏิเสธก็คือ แม้จะใช้เวลานานนับสิบปีในการสั่งสมประสบการณ์และความรู้ ที่จะกำกับดูแลให้เป็นผล ให้ประจักษ์ชัดถึงความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการกำกับ  แต่เมื่อสื่อมีพัฒนาการมากขึ้น มีการเติบโตขยายตัวมากขึ้น มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจชัดเจนมากขึ้น การดูแลกันเองแทบจะไม่ส่งผลอันใดเลย
           
สื่อที่ละเมิด ก็ยังละเมิดสม่ำเสมอ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อถามว่าจะมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างไรให้ “เชื่อฟังกัน” คำตอบคือต้องรอให้สังคมเรียนรู้และสรุปบทเรียนร่วมกับสื่อ ซึ่งแปลความได้ว่า ไม่มีคำตอบ ไม่มีแนวทาง และไม่มีหลักประกันใดที่สื่อจะดูแลกันเองได้
           
นี่เองเป็นที่มาของแนวคิดในการกำกับ ดูแลในชั้นที่ 3 ในรูปของคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งก็มีที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วยกันเองเลือกกันเอง  ไม่มีกรรมการโดยตำแหน่ง ไม่มีตัวแทนของรัฐบาล และไม่สามารถมีอำนาจอื่นแอบแฝงเข้ามาได้  ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะคัดกรองจากผู้ประกอบวิชาชีพตัวจริง มีผลงานและความต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ
           
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่หลักการและเหตุผลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้  มิได้ให้น้ำหนักในการควบคุมสื่อ เหมือนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17  ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 97
           
หากหลักการนั้นได้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน  ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในระดับเดียวกับหลักการกำกับ ดูแลในชั้นที่สาม
           
กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ได้เรียกว่ากฎหมายจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ไม่ได้เรียกว่ากฎหมายจัดตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ผู้มีอำนาจพยายามเสนอเมื่อยี่สิบปีก่อน แต่เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อันสะท้อนถึงเนื้อหาอันแท้จริงของกฎหมายฉบับนี้
           
สภาพบังคับของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นไปตามอารมณ์ ความรู้สึกของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับ ปว.17 ปร.42 พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 จนกระทั่งประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้ควบคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ และยังคงสภาพการเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ในทันที แต่กลับไม่มีการพูดถึง และเรียกร้องให้ทบทวน
           
มายาคติของกฎหมายคุมสื่อ ประการหนึ่งอาจมาจากการไม่ศึกษาให้ถ้วนถี่ และไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่ออย่างเพียงพอ ประการหนึ่งอาจมาจากนโยบายของผู้บริหารสื่อ ที่ไม่พร้อมจะทำงานด้วยความรับผิดชอบ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1096 วันที่ 16 - 22 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์