วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

‘เอก’เด็กช่าง สู่เกษตรกร คิดจากพอเพียงสู่ยั่งยืน

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

“เรื่องเกษตรยั่งยืนแค่ทำมันให้ง่าย คนทำก็จะไม่เหนื่อยท้อ” แนวคิดของเกษตรกรรายเล็กๆแต่หัวใจพองโตไม่มีหยุด ของ เอก กฤษณะ สิทธิหาญ  วัย 41 ปี บ้าน หมู่ .บ้านเสด็จ  อ. เมือง  จ.ลำปาง ผู้ผันตัวเองจากเด็กช่างที่จากบ้านไปโลดเล่นทำงานต่างถิ่น กลับคืนสู่บ้านมาทำเกษตรไร่สับปะรดกับครอบครัว ซึ่งเขาได้เรียนรู้ประสบปัญหาจากการปลูกสับปะรดมามากมาย สุดท้ายเขาพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากความรู้ทางช่างประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือทุ่นแรงในการทำเกษตรของเขาให้ง่ายขึ้นหลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องตัดหญ้าติดล้อ จนเพื่อนเกษตรกรอื่นๆที่เห็นแล้วโดนใจสั่งผลิตไปใช้บ้าง กลายเป็นรายได้เสริมและโอกาสแห่งการแบ่งปันหนทางเกษตรพอเพียง
           
“ผมเรียนจบสายช่างจากเทคโนตีนดอย เชียงใหม่ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเกษตรกร ผมทำงานทุกสายงานช่างจึงมีพื้นฐานติดตัวหลากหลายช่าง เมื่อผมกลับมาทำเกษตรที่บ้าน ก็ทำงานรับซ่อมเครื่องมือเกษตร และขายปุ๋ย พร้อมกับปลูกสับปะรด 40 ไร่ สิ่งที่ผมเห็นและสัมผัสคือปัญหาของเกษตรกร ทั้งเรื่องการเพาะปลูก ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน   ต้นทุนการผลิต ที่สูงขึ้นทุกปี  แรงงานภาคการเกษตรอายุมากและหายาก สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ร้อนแล้ง การปลูกพืชตามกันไม่มีการวางแผน ทั้งผลิต และการตลาด จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ   และเรียนรู้การทำการเกษตรตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง แบบพึ่งตน จากอดีตที่ทำไร่สับปะรดเพียงอย่างเดียว   เริ่มหันมาสู่การเกษตร  แบบผสมผสานและได้ตั้งเป้าหมาย สู่เกษตรอินทรีย์ เพื่ออนาคต ที่ยั่งยืน ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
           
การแก้ไขปัญหาเรื่องเกษตรของเขา เริ่มจากเรื่องการเพาะปลูกเปลี่ยนวิธีการปลูกเป็นทยอยเก็บทยอยปลูก ทำให้มีผลผลิตขายทั้งปี ลดพื้นที่การทำแบบเชิงเดี่ยว เป็นแบบผสมผสาน สร้างรายได้เสริมจากพืชอื่นๆ เช่น  สับปะรด ปาล์มน้ำมัน  กล้วย ผักสวนครัว ไผ่  ไม้ใช้สอย  ไก่พื้นเมือง  กบ 
           
ส่วนการตลาด เอกเลือกที่จะเปิดร้านจำหน่ายผลผลิตเอง เน้นขายผลสดสับปะรดและแปรรูปเป็นสับปะรดกวน พื้นที่หน้าร้านบางส่วน ขายทั้งปุ๋ย เคมีเกษตร เครื่องมือการเกษตร และบริการซ่อมดัดแปลงเครื่องมือการเกษตร ให้สะดวกเหมาะสมกับการใช้งาน ลดต้นทุนค่าแรง และเวลา
           
กฤษณะมองว่าหน้าร้านของเขาเหมือนเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่ดีแหล่งหนึ่ง ซึ่งทำให้รู้จักเกษตรกรในพื้นที่ และมีข้อมูลของเกษตรกรเกือบทุกราย และเขาพบว่าเกษตรกรที่ใช้เคมีนั้นนอกจากปัญหาเรื่องต้นทุน ทั้งปุ๋ยและยากำจัดวัชพืช ยังมีความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอนการทำเกษตร เขาจึงหาวิธีดัดแปลงเครื่องมือง่ายๆ ให้เกษตรกรสามารถ พรวนดินและหยอดเมล็ดเพาะปลูกในแปลงได้โดยไม่ต้องใช้ยากำจัดวัชพืชในแปลงปลูก

ผลงานที่โดดเด่นของกฤษณะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาได้ คิดค้นการแก้ปัญหาการกำจัดวัชพืชเพื่อลดการใช้สารเคมีแบบง่ายๆ ด้วยการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าสายสะพาย เป็นเครื่องตัดหญ้าติดล้อเข็นขนาดเล็ก เพื่อให้เกษตรกรทุกเพศทุกวัยใช้ได้สะดวกปลอดภัย  
           
เครื่องตัดหญ้าติดล้อผมดัดแปลงโดยนำเครื่องตัดหญ้าสายสะพาย ที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีข้อจำกัดคือหนักและผู้ใช้ต้องแข็งแรงจึงใช้งานได้สะดวก ข้อจำกัดอีกอย่างคือใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่จะเกิดความรู้สึกล้ากล้ามเนื้อ ผมจึงทดลองนำเครื่องตัดหญ้าสายสะพายมาตัดประกอบเข้ากับวัสดุเหล็กเหลือใช้ แบบต่างๆ กับล้อรถเข็นขนาดเล็กสามารถหมุนเหวี่ยงซ้ายขวาได้เช่นเดียวกับการใช้งานแบบสายสะพาย พัฒนาหาจุดลงตัวมาเรื่อยๆจนขณะนี้ได้โมเดลที่ดี และอยู่ในระหว่างยื่นเอกสารจดสิทธิบัตร งานของเขาเน้นช่วยเหลือเกษตรกรที่มีเครื่องตัดหญ้าสายสะพายอยู่แล้วก็นำเครื่องมาให้ดัดแปลงในราคาที่รวมค่าแรงแล้ว เพียง 2,500 บาท จนบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ขยายวงกว้างมากขึ้นทั้งในลำปางและต่างจังหวัด
           
จากผลงานดัดแปลงเครื่องมือทุ่นแรงทำเกษตรหลายชนิด ทั้งเคียวเกี่ยวข้าวแบบไม่ต้องก้ม เครื่องพ่นน้ำหมักกำจัดแมลง เครื่องมือเจาะหลุมปลูกบนพลาสติกคลุมแปลง ขณะนี้กำลังศึกษาทดลองใช้โมเดลเครื่องตัดหญ้าพัฒนาดัดแปลงเป็นเครื่องพรวนดินในแปลงปลูกพืชผัก เป้าหมายงานของผมเน้นการตอบโจทย์เรื่องของการทำเกษตรอย่างไรให้ลดต้นทุน และง่ายใครๆก็ทำเกษตรได้โดยมีเครื่องมือราคาประหยัดเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะเครื่องมือกำจัดวัชพืชต่างๆที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เมื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ปลูกได้ต่อเนื่องนำไปสู่การปลอดสารเคมีระยะยาวตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ได้ นี่คือทางออกอีกทางหนึ่งของการเกษตรแบบพอเพียง และหลังจากนี้ผมจะใช้ความรู้ที่ผมมีแบ่งปัน ให้เพื่อนเกษตรกรที่มีความรู้ด้านช่างมาช่วยกันทำเครื่องมือเกษตรพอเพียงขายให้เพื่อนเกษตรกร ที่ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรอำเภอเมือง เป็นช่องทางรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตร
           
ตัวอย่างของวิธีคิดแบบพอเพียงที่ไม่ได้จบแต่การเพราะปลูกเก็บเกี่ยวแล้วขาย ของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างกฤษณะ ทำให้เขาได้รับรางวัลเป็นกำลังใจ Young Smart Farmer จ.ลำปาง พ.ศ. 2559 รางวัลเกษตรกรสาขาพืชไร่ดีเด่น จ.ลำปาง พ.ศ. 2558 เกษตรกรสาขาพืชไร่ดีเด่น ระดับเขต พ.ศ. 2558   ในปี 2559 เขาได้รับรางวัลชมเชย เกษตรกรสาขาพืชไร่ดีเด่น ระดับประเทศ และเป็นเกษตรกรต้นแบบ   ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร  อ.เมือง จ.ลำปาง
           
“มากกว่ารางวัลใดๆ ความภาคภูมิใจของผมคือรอยยิ้มของเพื่อนร่วมอาชีพ ที่มาขอคำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องมือการเกษตร เรื่องเทคนิคการทำสวน รอยยิ้มของเกษตรกรที่เป็นผู้หญิง ผู้สูงอายุที่เรามองว่าอ่อนแอ ไม่เอื้อต่ออาชีพนี้ เมื่อมีอุปกรณ์ที่ดี ทำให้พวกเขามีรอยยิ้ม มีความหวัง อุปกรณ์ของข้ผมอาจไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้พวกเขาสะดวกสบายมากขึ้นในราคาที่จับต้องได้  พวกเขาทำให้ผมเชื่อมั่นว่า อาชีพทำการเกษตรจะเป็นอาชีพที่ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้อยู่พร้อมหน้าในครอบครัวสำหรับผมแล้ว อาชีพเกษตรกรอาจจะไม่ทำให้รวย แต่ผมจะอยู่แบบ  ยั่งยืน  และมีความสุขให้ได้ นั่นคือคำกล่าวของเขาที่มักจะพูดทุกครั้งเมื่อรับรางวัลใดๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1104 วันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์