วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ปฏิรูปสื่อ แบบประชาธิปไตย หัวใจเผด็จการ !

จำนวนผู้เข้าชม website counter

นวคิดแบบอำนาจนิยม ที่เชื่อว่าการให้มีใบอนุญาตและอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพนั้น จะแก้ปัญหาสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จ  เช่นเดียวกับหมอ เช่นเดียวกับวิศวกร และเช่นเดียวกับทนายความ  ถูกพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากเงียบหายมาระยะหนึ่ง เมื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสายสื่อมวลชน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

แต่เมื่อกระบวนการขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อตกมาอยู่ในมือของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแทบจะไม่มีสื่อมวลชนอาชีพอยู่เลย  แนวคิดนี้ก็ถูกขับเคลื่อนต่อ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้กฎหมายมากำกับ ควบคุมสื่อโดยผ่านใบอนุญาตให้ได้

ในรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง “การปฏิรูปกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่..) พ.ศ....” ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ตอนหนึ่งได้อธิบายถึงกฎหมาย กติกา การกำกับดูแล โดยแสดงตัวอย่างในวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร นักบินพาณิชย์ ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนต้องมีใบอนุญาตทั้งสิ้น  ดังนั้น

“วิชาชีพสื่อมวลชน ปัจจุบันยังไม่มีการกำกับ กำหนดขั้นตอนในภาควิชาการ-ภาคสนาม และใบอนุญาต ใบประกอบโรคศิลป์ จึงควรมีวิธีการหรือกลไกที่เหมาะสมกับสภาวะกาลอย่างเป็นระบบต่อไป”

ตอนหนึ่งในรายงานระบุ

หากเปรียบเทียบวิชาชีพสื่อมวลชน กับวิชาชีพอื่นๆที่กล่าวถึง จะพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือ คนที่อยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนไม่จำเป็นต้องจบการศึกษา หรือผ่านการฝึกอบรมเฉพาะด้านสื่อมวลชนโดยตรง

คนที่ทำอาชีพสื่อมวลชนราวครึ่งหนึ่งในปัจจุบันไม่ได้จบนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน และมีอีกจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะสื่อมวลชนรุ่นอาวุโสหลายคนที่ไม่ได้จบแม้แต่ปริญญาตรี

แต่คนเหล่านี้ก็ทำงานสื่อมวลชนด้วยความรับผิดชอบ เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป

ใครจะเป็นคนอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะสายอื่นๆนั้น ไม่เป็นปัญหา เนื่องเพราะกรรมการสภาวิชาชีพ กับผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้น ล้วนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องเดียวกัน การตัดสินถูก-ผิด จึงขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ชุดเดียวกัน อยู่บนฐานข้อมูลเดียวกัน

แต่เมื่อถามว่าใครจะเป็นผู้ให้ใบอนุญาต และเป็นผู้มีอำนาจถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในบริบทที่สื่อมวลชนมีความหลากหลาย มีแนวคิดและทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ประเด็นปัญหาทางจริยธรรมบางเรื่องก็ยังคงมีข้อโต้แย้งกันอยู่ ความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ การยอมรับผลการวินิจฉัย ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ไม่ว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจออกหรือเพิกถอนใบอนุญาต จะเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือจะเป็นในรูปแบบเจ้าพนักงานการพิมพ์ในยุคเผด็จการเรืองอำนาจก็ตาม

ดีที่สุดขององค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ ก็คือการออกใบรับรองว่าสื่อมวลชนแต่ละคนสังกัดองค์กรสื่อใด เพื่อเป็นข้อมูล และจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึง และตรวจสอบสถานะของสื่อมวลชนคนนั้นได้กรณีที่มีข้อสงสัย หรือมีการละเมิดเกิดขึ้น

ไม่เพียงความยุ่งยาก ซับซ้อนในการใช้อำนาจกำกับ ควบคุมสื่อโดยผ่านใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเท่านั้น หากการให้มีใบอนุญาตในการอ่าน พูด หรือสื่อความหมายด้วยวิธีใด ยังเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ด้วย

เพราะไม่ว่ากฎหมายใดๆ หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญกฎหมายฉบับนั้น ย่อมไม่มีผลใช้บังคับอยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตรา 34  บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ และมาตรา 35 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

วรรคต่อมา การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้

การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้น ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อใดๆจะกระทำมิได้

บทบัญญัติลักษณะเช่นนี้ ก็ไม่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

การก่อตั้งอำนาจในการที่จะให้คำอนุญาตว่า ผู้ใดสมควรจะแสดงความเห็น จะพูด จะเขียน จะพิมพ์ได้  จึงเป็นการขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฏีกาได้ตีความเช่นนี้มาแล้ว

เสรีภาพของสื่อ ก็คือเสรีภาพของประชาชน

แน่นอนว่า สื่อมวลชนก็ต้องยอมรับว่า ยังมีการใช้เสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ต้องมีวิธีการจัดการจะโดยมาตรการทางสังคม หรือกฎหมายที่บังคับให้กระบวนการดูแลกันเองสามารถทำงานได้ก็ตาม

แต่ไม่ใช่ด้วยการให้มีใบอนุญาต

เพราะสิ่งนี้คือความเลวร้ายอย่างยิ่งของประเทศเสรีประชาธิปไตย และสื่อจำเป็นต้องผนึกกำลังกันต่อต้านแนวคิดอำนาจนิยมนี้อย่างถึงที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1105 วันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์