วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

น็อต กราบรถ บททดสอบสื่อสวะ !

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

อกจากสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ซึ่งต้องถือว่า เป็นแบบอย่างของสื่อสาธารณะ  ที่ต้องชัดเจนในแนวทางปฏิบัติแล้ว ต้องชื่นชมยินดีกับผู้บริหาร จีเอ็มเอ็ม ภายใต้อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ที่เขาอาจไม่มีภาพของสื่อที่เคร่งครัด  กอดรัดหลักการเหนียวแน่นเหมือนองค์กรสื่อบางแห่ง แต่พันคำหรือจะสู้การกระทำเพียงครั้งเดียว
           
เรื่องของน็อต กราบรถ เป็นด้านสว่างของสื่อสังคมออนไลน์  ที่ทำให้เห็นด้านมืดของดารา พิธีกรหนุ่ม “คนไทยตัวอย่าง” และทำให้เห็นว่า การกำกับดูแลกันเอง โดยวิธีการทางสังคม เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องทำให้สิ้นสงสัย ว่าองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลาย มีความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบเช่นนี้ของตัวเองมากน้อยแค่ไหน และมีมาตรฐานเทียบเท่าอากู๋หรือไม่
           
ความจริง คนไทยตัวอย่างชนิดโหล ที่องค์กรบางองค์กรสถาปนากันขึ้นมา เพื่ออาศัยความดังของดารา และดาราก็พลอยได้อานิสงส์ จากรางวัลนี้ด้วย เมื่อมีคำว่าคนไทยตัวอย่างต่อท้ายชื่อ ทำให้อึ่งอ่างยิ่งพองตัวแสดงความน่าเวทนาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
           
ก็ถือเป็นแรงสนับสนุน ให้น็อตคิดว่าเขาเป็นเซเลบอันเป็นที่ชื่นชมของผู้คน จนกระทั่งได้รับการยกย่อง เป็น คนไทยตัวอย่างของสมัชชานักจัดรายการฯ และเหมือนจะสำคัญผิดว่าตัวเองมีฐานะเงินทอง และฐานะทางสังคม สูงกว่าคนขับรถมอเตอร์ไซค์
           
การหมิ่นแคลน และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ใช้กำลังตัดสิน แสดงอำนาจบาตรใหญ่เพื่อย้ำให้เห็นความหลงผิดของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สูงส่งกว่ามนุษย์คนอื่นจึงเกิดขึ้น
           
แต่เพียงชั่วข้ามคืน น็อต เวลคัม น็อต กราบรถ หรือนายอัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล ก็ได้รับผลแห่งการกระทำนั้นอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ
           
โดยเฉพาะจากองค์กรสื่อ 2 แห่งที่สมควรปรบมือให้ด้วยความยินดี
           
การตัดสินความผิดของน็อตจากประจักษ์พยานที่เห็นชัดเจน จะนาทีครึ่งหรือไม่ก็ตาม นั่นแปลว่าองค์กรสื่อ เชื่อว่าพฤติกรรมของน็อตนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมพื้นฐานที่ตราไว้ในแนวปฏิบัติขององค์กรวิชาชีพสื่อทุกประเภท
           
จีเอ็มเอ็ม ของอากู๋ประกาศยกเลิกสัญญากับน็อต ไทยพีบีเอส ซึ่งน็อตเป็นพิธีกร รายการ ‘Thailand Science Challenge’ รวมถึงการแสดงละครโทรทัศน์อยู่อีก 1 เรื่องคือ ก๊วนสืบหลังเลิกเรียนก็ได้ประกาศระงับการออกอากาศผลงานทั้งหมดของน็อต เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน โดยมีผลทันที
           
 หากองค์กรสื่อชัดเจนที่จะกำกับ ดูแลกันเองโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจภายนอกใดๆ มาควบคุม บังคับ เราก็อาจจะมีความหวังในการจัดการสื่อนอกคอก ซึ่งดีที่สุดสำหรับการกำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรม คือมาตรการทางสังคม 
           
แต่เรายังมีองค์กรสื่อที่ คิดเองไม่ได้อยู่จำนวนไม่น้อย องค์กรที่พยายามปกป้องคนของตัวเอง ทั้งที่กระทำผิดกฎหมายและจริยธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
           
มีเรื่องคราวใด ก็มีสมองพูดแค่ว่าจะเป็นการสรุปบทเรียนร่วมกันระหว่างสื่อกับชาวบ้านที่ถูกละเมิด แล้วก็สรุปบทเรียนไปเรื่อยๆ จนบทเรียนกองสูงท่วมหัวแล้ว ก็ยังไม่มีหนทางใดที่จะจัดการสื่อนอกคอกได้
           
องค์กรเหล่านี้เองจะทำให้ความคิดแบบคุมสื่อเบ็ดเสร็จมีความชอบธรรมมากขึ้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1104 วันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์