วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บิ๊ก มทบ.32 นั่งหัวโต๊ะ กาวใจสองฝ่าย ชาวบ้าน-กฟผ.

จำนวนผู้เข้าชม good hits

ผบ.มทบ.32 นั่งประธานประชุมเคลียร์ปัญหา กฟผ.แม่เมาะ กับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการรับฟังความคิดเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค.1) การขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน ยื่นข้อเสนอ 11 ข้อ  แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
           
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 59  ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ พล.ต.กิตติศักดิ์ แม้นเหมือน  ผบ.มทบ. 32   พร้อมด้วยนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง นายอำเภอแม่เมาะ  ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. นายอมรพันธ์ ลีลาภรณ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า  นายบรรพต ธีระวาส ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้าน ประกอบด้วย นายธรรมการ ชุมศรี  ส.อบจ.อ.แม่เมาะ  นายถนอม กุลพินิจมาลา  กำนัน ต.สบป้าด ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่เมาะ   นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์  นายก อบต.บ้านดง  นายสุนทร ใจแก้ว อดีตนายก อบต.สบป้าด   นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ   ได้ร่วมกันประชุมแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เพื่อหาทางออกร่วมกันให้การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทาง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(ค.1)เดินหน้าต่อไปได้

โดยในที่ประชุมทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้ชี้แจงถึงการดำเนินโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทน จากกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ เป็น 655 เมกะวัตต์  เนื่องจากผลการคำนวณทางเทคนิคและการจัดซื้อจัดจ้างทำให้ได้โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 655 เมกกะวัตต์  ซึ่งได้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ทาง กฟผ.จึงพิจารณาในการเพิ่มกำลังการผลิต โดยตามกฎหมายต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อขอความเห็นไปยังคณะกรรมการผู้พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  โดยได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไปแล้ว เมื่อวันที่  30 พ.ย.59 ที่ผ่านมา   พร้อมทั้งระบุว่าการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้กำหนดช่วงเวลาในเดือน ก.ย. 59 ถึง ก.ย. 60  และจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน พ.ย. 61  ในรอบใหม่นี้คาดว่าจะจัดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือน ม.ค. 60  ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน

ทั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มชาวบ้านได้มีการประชุมกันก่อนหน้านี้  และได้ยื่นข้อเสนอให้กับทาง กฟผ.รวม 11 ข้อ  เช่น ให้ กฟผ.แม่เมาะ ตั้งกองทุนรัฐสวัสดิการให้ประชาชนปีละ 500 ล้านบาท ตั้งแต่แรกจนเสียชีวิตเดือนละ 2,000 บาทต่อคน ที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ,  ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ปีละ 300 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ศ.2535 ถึงปัจจุบัน และเร่งรัดการออกโฉนดให้ชุมชน ,  ให้ กฟผ.สนับสนุนค่าภาคหลวงแร่ให้ อปท.ที่อยู่ในเขตประทานบัตร และไม่อยู่ในเขตประทานบัตร จำนวน 200 ล้านบาทต่อปี   ซึ่งใน 3 ข้อนี้ ทาง กฟผ.จะนำเสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณา

นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องให้ กฟผ.แก้ไขระเบียบการรับสมัครงานของลูกจ้างและพนักงานทุกระดับ โดยจ้างงานโดยตรงที่ประชาชน ครอบครัวละ 1 คน  ,ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า สร้างอ่างเก็บน้ำหรือสระน้ำให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสาธารณูปโภค การเกษตร ให้เพียงพอและเหมาะ รวมทั้ง พัฒนาถนนสายโรงโม่ ถนนปากทางสวนป่าแม่จาง อบต.จางเหนือ  , รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการใช้กระแสไฟฟ้าของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 , แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประเมินผลและพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นทุกเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เครื่องที่ 4-7  โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง , ยกเลิกการกำหนดขอบเขตพื้นที่การศึกษา ในการประเมินผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม(EHIA)  ให้ครอบคลุมพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขุดบ่อเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ครอบคลุมทั้ง 5 ตำบล โดยไม่ต้องมีรัศมี 5 กิโลเมตร   , ขอให้ กฟผ.ใช้สถาบันการศึกษาภาครัฐเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบการมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเกิดความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประชาชน  เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาเป็นของเอกชน อาจจะเสนอข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากการสะท้อนปัญหาของประชาชนในพื้นที่

ด้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ โดยนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายฯ  ได้ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ ให้อพยพประชาชนออกจากรัศมีผลกระทบ 20 กิโลเมตร ตามความสมัครใจของประชาชน   และให้มีการติดตั้งเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  เครื่องดักสารปรอท เพื่อตรวจวัดค่ามลพิษที่ปากปล่องโรงไฟฟ้า

แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งทาง กฟผ.ได้รับว่าจะนำข้อเสนอภาคประชาชน ทั้ง11 ข้อ ไปพิจารณา ว่าเรื่องใดมีรายละเอียดลงลึกอย่างไร เรื่องใดที่สามารถทำได้เลยหรือเรื่องใดที่ต้องเพิ่มเติม ภายในเวลา 2 สัปดาห์  และจะมีการนัดพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งยังไม่มีกำหนดว่าจะจัดประชุมอีกเมื่อไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์