วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คอนเวอร์เจ๊ง

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

นห้วงระยะเวลาราว 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากคำว่าดิจิตอลแล้ว หลักและแนวคิดในเรื่องวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ก็เป็นวรรคทอง ที่เกือบทุกการพัฒนาหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ จะต้องเอาไว้ต่อท้ายชื่อวิชา เพื่อให้ดูไม่ตกสมัย ทั้งที่อาจยังเข้าใจไม่ถ่องแท้ และหาคนสอนวิชาเหล่านี้ยังไม่ได้

ในขณะที่ผู้ประกอบการสื่อบางราย ก็พยายามแสดงราคาความเป็นผู้นำในเรื่องคอนเวอร์เจนซ์ ด้วยวิธีบริหารจัดการทรัพยากรข่าวให้มีมูลค่าสูงสุด ตอบรับช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยหวังว่าการบริหารต้นทุนในการผลิตวัตถุดิบคือข่าวนั้น จะช่วยให้สำเร็จในทางธุรกิจ

แต่หลังจากก้าวกระโดดเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่นาน คอนเวอร์เจนซ์ที่ฝันกันว่า จะเป็นโมเดลในฝัน เก็บกำไรกันเป็นกอบเป็นกำ กลับเป็นคอนเวอร์เจ๊ง ที่ไม่ว่ามองระยะใกล้หรือไกลก็ล้วนไม่มีอนาคต

ในห้วงระยะเวลาเดียวกันนั้น “จอกอ” เคยให้สัมภาษณ์กลุ่มสื่อมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทของสื่อและการกำกับดูแลเรื่องจริยธรรม โดยเฉพาะปรากฏการณ์คอนเวอร์เจ้นท์ และบทบาทการสอนที่เป็นภาคหนึ่งในการประกอบวิชาชีพคู่ขนานไปกับงานข่าวของจอกอ ทั้งนี้จะตัดตอนเฉพาะที่เกี่ยวข้องมานำเสนออีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพคำทำนายชัดขึ้นว่า คอนเวอร์เจ้นท์ ไม่ใช่คำตอบสำหรับการอยู่รอดของสื่อ

โปรดอ่าน..

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: คุณสอนอะไร

ตอบ : Media Management [การบริหารจัดการสื่อ]

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: เคยได้ยินว่า มีการสอน Critical Thinking

ตอบ : มีครับ ที่อื่นๆก็มี วิชาวิเคราะห์วิพากษ์ เพียงแต่ว่าถ้าจะพูดไปแล้วทั้งคนสอนคนเรียนก็พอกัน คนสอนก็สอนตามทฤษฎี คือก็ว่าไปตามทฤษฎี 1-2-3-4-5 แล้วก็ไม่ได้เอาตัวอย่างจริงมาวิเคราะห์ให้เห็น ผมว่าการวิเคราะห์นี่ถ้าจะให้เห็นภาพชัด คุณมีทฤษฎีจับมาวางแล้วคุณก็ต้องมี Case study ใส่เข้าไปในทฤษฎีแล้วก็วิเคราะห์ออกมาด้วย มันก็เป็นแบบนี้ ทั้งสองด้าน จะไปโทษเด็กก็ไม่ได้ ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยสอนให้เด็กคิดเท่าไร

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: Media Management สอนอะไร

ตอบ :  ความจริงมันกว้างมากนะ Media Management ก็คือการบริหารจัดการสื่อ ผมก็สอนมาประมาณสิบกว่าปี มันก็วิวัฒนาการตั้งแต่การบริหารจัดการสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ แล้วก็มาเป็นวิทยุโทรทัศน์ มาเป็น New Media [สื่อใหม่] มาเป็น Media Convergence [การหลอมรวมสื่อ] แต่โดยวิธีสอนของผมนี่ ผมสอนแนวคิดมากกว่าที่จะสอนเรื่องของตัว fact  หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แนวคิดในเรื่องของการบริหารจัดการ เรื่องสำคัญๆที่ผมมักจะสอนบ่อยๆ คือผมให้ดูว่าบทบาทขององค์กรสื่อว่ามีบทบาทที่คู่ขนานกัน คือบทบาทของความเป็นองค์กรธุรกิจกับบทบาทขององค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันนี้เป็นบทบาทที่ขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณเลือกบทบาททำธุรกิจ คุณก็อาจจะสูญเสียบทบาทของสื่อมวลชนที่ถูกต้องในเรื่องการเลือกภาพ เลือกข่าวต่างๆ นี่ก็เป็นประเด็นที่ผมพยายามสอดแทรกอยู่ตลอดเวลาในการสอนเรื่องของการบริหารจัดการสื่อ

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: ความหมายของคำว่าสื่อหลอมรวมแบบกระชับให้เข้าใจได้ง่ายคืออะไร

ตอบ : คือไม่มีใครนิยามชัดเจนว่าสื่อหลอมรวมเป็นอะไร แต่ในเชิงบริหารธุรกิจ ก็อาจจะบอกได้ว่า พูดเรื่องการบริหารก่อนนะ สื่อหลอมรวมก็คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือในเมื่อวัตถุดิบในการทำงานโดยเฉพาะงานสื่อคือข่าวอยู่แล้ว ถ้าคุณมีสักหน่วยหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการนำข่าวนำภาพมา แล้วคุณก็ไม่ต้องไปตั้งอีกตั้งหลาย unit เพื่อที่จะไปแต่ละสื่อ คุณก็เอา unit นี้แหละ แล้วก็มีคนในวงหนึ่งซึ่งอาจจะเรียกร้องทักษะเป็น multimedia skill คือมีความสามารถในการบริหารจัดการหลายๆสื่อ คุณก็ไปบริหารก้อนนี้ก้อนเดียว แทนที่จะเป็นหลายๆก้อน มันก็จะดีในแง่ธุรกิจคือลดต้นทุน
  
แต่ผมคิดว่าในสังคมไทย ในสื่อไทยไม่ได้พูดที่ใดโดยเฉพาะเจาะจงนะครับ มันคงเป็นเรื่องยากอยู่ เพราะเราคงไม่สามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถอย่างนี้ในระดับที่น่าพึงพอใจได้ คือทำน่ะทำได้ แต่ในระดับที่เราคิดว่าควรจะเป็นนี่ คงจะยาก อันนี้คือในแง่ของการบริหารจัดการ

แต่พูดถึงในแง่ของสื่อ ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องที่อาจจะจำเป็นต้องฝึกฝนหรือให้ความรู้ของสื่อให้เขาเข้าใจว่าบาทบาทของเขาจากนี้ไปไม่ใช่บทบาทที่เขาจะไปโฟกัสที่จุดหนึ่งจุดใดอีกต่อไปแล้ว เขาไม่สามารถที่จะไปบอกว่าอาณาเขตเขาอยู่แค่นี้นะ เขาส่งงานหนังสือพิมพ์นะ แล้วคุณอย่ามายุ่งกับผมนะ ไม่ได้แล้ว คุณต้องมีความสามารถที่จะทำหลายๆ สื่อไปในเวลาเดียวกัน คุณต้องเปิดหน้าได้ ต้องวิเคราะห์ข่าวต้องออกทีวีได้ ถึงแม้หน้าตาคุณจะไม่สวยไม่หล่อก็ตาม แต่คุณต้องมีความสามารถ คุณต้องทำออนไลน์ได้ อันนี้ก็คือเป็นการคอนเวอร์เจนท์ในแง่ตัวบุคคลโดยใช้เครื่องมืออันเดียวกัน คือต้องไปนั่งคิดครับว่านิยามเรื่องนี้คืออะไร ผมก็ยังไม่เห็นใครให้นิยามที่ชัดเจน

มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์: เป็นการลดต้นทุนการผลิต?

ตอบ : การลดต้นทุนนี่มองเห็นชัดเจนเพราะว่ามันคำนวณนับค่าในเชิงสถิติได้ แต่ในเชิงของสื่อสารมวลชน ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นภาพเทาๆ อยู่ ยังไม่ชัดเจนเท่าไรว่ามันคืออะไร

คงต้องมีเวลาคุยกันเรื่องนี้อีกสักครั้ง เพื่อค้นหาคำตอบว่าในที่สุดภาพสีเทาที่จอกอ พูดไว้เมื่อราว 4 ปีก่อน มันนำมาสู่ปรากฏการณ์ คอนเวอร์เจ๊ง ได้อย่างไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1109 วันที่  16 -  22 ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์