วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2560

ค้านปฏิรูปสื่อฉบับ สปท.

จำนวนผู้เข้าชม website counter

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะเสนอรายงานประกอบ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศในที่ประชุม สปท.วันที่ 30 มกราคมนี้ เนื้อหาสำคัญที่เป็นประเด็นโต้แย้ง ขององค์กรวิชาชีพสื่อ คือ การกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่จะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  อีกทั้งให้มีตัวแทนภาครัฐ 4 ตำแหน่ง อยู่ในคณะกรรมการสภา ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน โดยผ่านตัวแทนซึ่งเป็นข้าราชการประจำได้

การกำหนดให้วิชาชีพสื่อมวลชน ต้องมีใบอนุญาต และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นหลักคิดเทียบเคียงกับผู้ประกอบวิชาชีพสาขาอื่นๆ เช่นแพทย์ ทนายความ วิศวกร ดูเหมือนเข้าใจง่าย เพราะถ้าสื่อมวลชนประพฤติผิดหลักการจริยธรรม เมื่อมีใบอนุญาต ก็อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ทำให้สื่อมวลชนไม่กล้าฝ่าฝืนจริยธรรม หรือในนัยเดียวกัน หากให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาให้ใบอนุญาต ก็อาจจะเข้มงวด และคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในวิชาชีพนี้ที่มีประวัติการทำงานดี  มีความรับผิดชอบ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม แต่ความเป็นจริงนั้น การใช้หลักเทียบเคียงวิชาชีพอื่น กับวิชาชีพสื่อมวลชน มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ถึงแม้ว่าจะเรียกเป็นวิชาชีพหนึ่ง แต่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อก็ไม่จำเป็นต้องจบทางด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพ แพทย์ ทนายความ วิศวกร ซึ่งจบมาในสาขาวิชานั้น มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  เป็นความรู้ที่จำเป็นเพราะต้องใช้ความรู้นั้นไปในการเยียวยารักษาคนไข้ ดูแลคดีความ และการสร้างหลักประกัน ความมั่นใจให้กับโครงการก่อสร้างต่างๆ แต่สำหรับวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นวิชาชีพที่ต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ซึ่งเป็นบทบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี2540เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญให้การรับรองทั้งบุคคลทั่วไป และบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติเขียนว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตรา 34 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์  การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ และมาตรา 35 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้น ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ จะกระทำมิได้ ดังนั้น การกำหนดในกฏหมายให้วิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต จึงเป็นกฏหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

เราขอคัดค้านกระบวนการปฏิรูปสื่อ ที่กระทำโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สปท.โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.....อีกทั้งกฎหมายอื่นใดที่มีลักษณะ” ควบคุมบังคับ” อันอาจเสนอในนามคณะบุคคลอื่น เช่น คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในขณะเดียวกัน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสภาวิชาชีพในปัจจุบัน โดยจะเร่งสร้างกลไกในการกำกับดูแลกันเองให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งย้ำเตือนถึง การใช้เสรีภาพของสื่อที่ต้องมีความรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1114 วันที่  27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์