วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

บ้านสิงห์ชัย อดีตชุมชนคนกับม้า

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris


ก่อนที่รถม้าจะกระจายไปอยู่บ้านหม้อ บ้านต้นธงชัย จนกลายเป็นชุมชนคนรถม้าเช่นทุกวันนี้ รถม้าเคยมีอยู่แทบทุกครัวเรือนที่บ้านสิงห์ชัย คนลำปางสมัยก่อนต่างรู้กันดีว่า บ้านสิงห์ชัยในอดีตนั้น เคยเป็นหมู่บ้านรถม้า มีอู่ซ่อมบำรุงรถม้าถึง 3 อู่ อู่แรกของลุงโอด ชาวชมภู และลุงปอ อู่ที่ 2 ของนายสม ฟูปิง ส่วนอู่ที่ 3 ของนายอู๊ดมณีวรรณ และนายดี ฟูปิง ซึ่งทั้ง 3 อู่นี้นอกจากจะซ่อมแซมและปรับปรุงรถม้าแล้ว ยังทำตัวถัง ทำวงล้อ ประกอบรถม้าทั้งคันก็ยังได้
           
คนเก่าแก่แห่งบ้านสิงห์ชัยเคยเล่าให้ฟังว่า คนที่นี่จะดูลักษณะของม้าเป็นสำคัญ ม้าตัวไหนวิ่งดี หรือไม่ดีให้ดูที่หน้าอก ถ้าหน้าอกกว้าง เวลาวิ่งขาหน้าจะถ่าง เล็บของม้าจะเสียดสีข้อเท้าม้าจนเป็นแผล ก็ต้องแก้ด้วยการเอาผ้าไปพัน เรียกว่าสนับ เวลาจะซื้อม้าจึงต้องดูที่หน้าอก หน้าอกกว้างไหม ดูขวัญด้วย ถ้าขวัญอยู่ตรงก้น เขาเรียกจอมหลวงจอมน้อย ถ้าเกิดกับเราไม่เป็นไร แต่ถ้าซื้อมาจะไม่เป็นมงคล ขวัญม้าจึงเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงม้าต้องรู้และดูให้เป็น
           
หลังจากนั้นพอม้าอายุครบ 3 ปีจะถูกหัดขี่ ชาวบ้านสิงห์ชัยฝึกขี่ม้าเพียงครึ่งชั่วโมงก็เป็นกันแล้ว แถมยังขี่แบบไม่มีอาน เพราะเชื่อกันว่า ขี่มีอานไม่ใช่พวกลูกทุ่งจริง แม้จะต้องแลกด้วยอาการ “ก้นแตก” ก็ตาม พวกเขาจะจูงม้าลงไปในแม่น้ำวัง เพราะม้าจะดีดไม่ได้ ฝึกไปเรื่อย ๆ จนม้า “เคยขา” ก็จะให้เจ้าของขี่แต่โดยดี แหม...หนุ่ม ๆ บ้านสิงห์ชัยสมัยก่อนคงเท่ไม่หยอก
           
คนขับรถม้าสมัยนั้นต้องมีใบขับขี่และสวมปลอกแขน ส่วนรถม้ามีข้อบังคับว่า ตัวถังต้องทาสีฟ้า แต่คาน แหนบ และอื่น ๆ ทาสีดำ บางคนใส่ลูกเล่นตรงหัวยึดน็อตโดยทาสีแดงก็มีรถม้าจะไปออกันอยู่ที่สถานีรถไฟ เพื่อรอรับผู้โดยสารที่มาจากแพร่ พิษณุโลก หรือไม่ก็เชียงใหม่ คนขับรถม้าจะสังเกตชะลอมที่ผู้โดยสารถือ ชะลอมคนเชียงใหม่จะตาน้อย ๆ ถ้าทางแพร่ทางพิษณุโลกชะลอมตาจะห่าง(น่ารักอะ)

รถม้าคันหนึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ 4-5 คน เบาะหลังนั่งได้ 3 คน เบาะหน้านั่งได้ 2 คน รถม้าเมื่อก่อนคันใหญ่กว่านี้ นั่งสบาย แหนบนิ่ม ซึ่งคนที่เชี่ยวชาญการนั่งรถม้าจะรู้ทันทีว่าคันไหนของนอก คันไหนไม่ใช่

ม้าที่แข็งแรงที่สุดสามารถลากรถม้าได้ 6 เที่ยว (1 เที่ยวของรถม้าหมายถึงไป-กลับ) เที่ยวหนึ่ง 6 กิโลเมตร แต่ชาวบ้านสิงห์ชัยไม่ทำเช่นนั้น เขาจะวิ่งกันแค่วันละ 3 เที่ยวบ้าง 2 เที่ยวบ้าง เพื่อถนอมม้า สมัยก่อนค่าโดยสารจากแถวสบตุ๋ยมาในตัวเมืองคิด 3 บาท แต่ถ้าผู้โดยสารที่มากับรถไฟมีของมีกระเป๋าเยอะขอคิด 5 บาท และนั่งได้ไม่เกิน 5 คน นอกเหนือจากนั้น หากไปตลาด เช่น จากตลาดรอบเวียงมาห้าแยกคิด 1.50 บาท แต่จากตลาดไปวัดพระแก้วฯ จะคิด 5 บาท เพราะต้องขึ้นสะพานรัษฎาฯ แล้วไปขึ้นตลิ่งวนจักรอีก ด้านวัดพระบาทไป-กลับคิด 10 บาท เพราะค่อนข้างไกล

เมืองลำปางสมัยก่อนมีรถม้าประมาณ 200 คัน แล้วจะเห็นวิ่งตลอดเวลา ตามหลักรถม้า 1 คันจะมีม้าสับเปลี่ยนกัน 4 ตัว หมายความว่า ออกไปวิ่งตอนตีสี่ รับแม่ค้าไปตลาดจนถึงแปดโมงเช้า หรือเก้าโมงจึงกลับบ้าน คนกินข้าว ปลดม้า แล้วเอาม้าอีกตัววิ่งจนถึงเที่ยงวัน สองตัวผ่านไปแล้ว จากนั้นบ่ายโมงจนถึงหกโมงเย็นก็อีกตัว สามตัวแล้ว จากหกโมงเย็นไปถึงเที่ยงคืน หรือตีหนึ่งก็อีกตัว ทั้งหมด 4 ตัว

คนเก่าแก่บ้านสิงห์ชัยลงความเห็นว่า เมืองลำปางนั้นเหมาะกับรถม้าที่สุด รถม้าที่เคยไปวิ่งเมืองแพร่ก็วิ่งไม่ได้ เพราะสถานีรถไฟห่างจากตัวเมือง 20 กว่ากิโลเมตร เชียงใหม่ก็วิ่งไม่ได้ เพราะตัวเมืองเหมือนตาหมากรุก คือผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมตัดไปตัดมา แต่สถานีรถไฟลำปางห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร เหมาะกับม้าที่จะวิ่งได้ไม่เหนื่อยนัก ลองนึกภาพว่าสมัยก่อนตอนที่บ้านเรามีแต่รถม้าเป็นเจ้าถนนนั้น จะคลาสสิกขนาดไหน เสียงกุบกับ ๆ คงดังก้องไปทั้งเมือง ไม่เหมือนตอนนี้ที่เสียงรถกลบเสียงฝีเท้าม้า และรถม้าก็กลายเป็นพาหนะสำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ขวัญใจแม่ค้าเหมือนเมื่อก่อน แถมคนลำปางรุ่นใหม่ ๆ หลายคนยังไม่เคยนั่งรถม้าด้วยซ้ำ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1116 วันที่  10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์