วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

“คณิต” ตลกก็ไม่บอก ! หมอนวด – มอไซด์ เขายังมีใบอนุญาต

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris


ด้วยความหลากหลายในความคิดเห็น  อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.จึงตัดสินใจจัดการให้รายงานเรื่องร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....ที่จะเสนอ สปท.ชุดใหญ่รวบรวมทุกเรื่อง ทุกความเห็นไว้ในฉบับเดียวกัน

รายงานชุดใหญ่ จะประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐาน ข้อเสนอร่างกฎหมายของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยแยกตัวบทกฎหมาย ข้อเสนอ สรุปผลการศึกษาวิจัย ข้อคิดเห็น ออกเป็นภาคผนวก (ก) –(ซ)

ประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันมาตลอด นับจาก กรรมาธิการชุดใหญ่รับเรื่องจากอนุกรรมาธิการ แล้ว “แปลงสาร” ในสาระสำคัญ คือเรื่องใบอนุญาตสื่อมวลชน และตัวแทนระดับปลัด 4 กระทรวง นั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยตำแหน่ง ปัญหา คือต้นกระแสธารความคิดนี้มาจากบุคคลใด เพราะประธานกรรมาธิการ ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า เรื่องเหล่านี้มาจากการปรึกษาหารือในวงกินข้าวกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน  รวมทั้งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ

ครั้งสุดท้ายที่มีการประชุมกรรมาธิการ คล้ายจะมีข้อเสนอให้เสนอที่ประชุมใหญ่สปท.เฉพาะรายงานและร่างของกรรมาธิการ ตัดความเห็น ตัดร่างอื่นๆ เพื่อให้เห็นเป็นเอกภาพด้วยซ้ำ

แปลว่าฝนจะตก แดดจะออก ก็ยืนกระต่ายขาเดียว ว่าสื่อต้องมีใบอนุญาต มีข้อมูลเก็บไว้ในซิมให้ตรวจสอบได้

ในภาคผนวกทั้งหมด คือภาคผนวก (ช) ข้อคิดเห็น 27 ประเด็นของประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “กฎหมายสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เรียกว่าเป็นความเห็นเรียกแขก ที่น่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่คนเช่นนี้นั่งอยู่ในฐานะหัวขบวนการปฏิรูปสื่อ

ไม่ได้แปลว่าประธานมีความเห็นไม่ได้ กรรมาธิการมีความเห็นไม่ได้ แต่หากความเห็นนั้นวิปริต ผิดเหตุผล ผิดหลักการแม้แต่หลักการพื้นฐาน และยังไม่พยายามเรียนรู้และเข้าใจ ยังดื้อ ดึงดันถูลู่ถูกัง ลากร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จนในที่สุดกฎหมายก็ใช้บังคับไม่ได้ นี่ย่อมเป็นการสูญเปล่าทั้งเวลาและเสียดายเงินเดือน สปท.อย่างยิ่ง

ด้วยท่าทีและการแสดงออกว่าพร้อมที่จะรับฟังทุกฝ่าย ไม่มีความคิด ไม่มีธงที่จะบอกว่าสื่อต้องมีใบอนุญาตหรือไม่  แต่บอกแค่ว่า แนวคิดนี้ได้มาหลังจากไปตั้งวงกินข้าวกับสื่อ ออกค่าอาหารคนละครึ่ง  และจากการฟังความเห็นของทีดีอาร์ไอ คนฟังก็เหมือนต้องมนต์สะกด ในขณะที่สื่อเป็นผู้ร้าย ไปตกลงปลงใจเห็นด้วยกับเขาแล้ว มาทำเป็นค้าน

แต่ได้โปรดพิจารณาบรรยากาศการพูดคุยในกรรมาธิการในหลายช่วงตอน คนที่เสนอความเห็นอย่างแข็งขัน ต่อเนื่อง ยาวนานในเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ คือคนนั่งหัวโต๊ะ

เพื่อแสดงหลักฐาน ใบเสร็จยืนยันข้อเท็จจริง ภาคผนวก ช.ประธานกรรมาธิการ ได้มีบันทึกแสดงข้อความว่า “ขอเปิดเผยความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบร่างกฏหมายสภาวิชาชีพ.....” ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ก่อนหน้าที่ผมจะส่งสัญญาณเตือนเรื่องใบอนุญาตสื่อ ในการประชุมสัมมนาเรื่องปฏิรูปสื่อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 24 พฤศจิกายน และก่อนหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจะเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

ในประเด็นใบอนุญาต เขาอธิบายว่า ตามหลักสากลทุกประเทศทั่วโลกทั้ง 193 ประเทศ จะมีหลักคิด/หลักนิยม คล้ายๆกัน เป็นสากล หรือเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานสากล ที่การประกอบวิชาชีพจะต้องมีคุณภาพ มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งมีหน่วยงานมากำกับ กำหนดเป็นใบอนุญาต ใบประกอบโรคศิลป์ ยิ่งทำให้เกิดการยอมรับน่าเชื่อถือ เป็นหลักประกันของนายจ้างและลูกจ้าง

น่าแปลกใจที่ท่านประธานกรรมาธิการรู้เรื่องทั่วไป ที่คนอื่นๆเขาก็รู้ แต่ไม่รู้เรื่องงานในหน้าที่ ไม่รู้ว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตยในโลกนี้ ไม่มีประเทศไหนเลยที่มีกฎหมายกำหนดให้สื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต  ในรัฐธรรมนูญที่ท่านอ้างว่า การแสดงความเห็นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่สิทธิสื่อมวลชน ซึ่งถ้าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มาตรา 34 และ 35 เขาเขียนไว้ชัดว่า บุคคลทั่วไปย่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ก็มีเสรีภาพเช่นเดียวกัน

เสรีภาพนี้จะถูกจำกัดไม่ได้

เพราะความรู้ ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนนี้เอง จึงกลายเป็นเหตุผลว่า มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เขาก็มีการกำกับโดยเสื้อกั๊กสีต่างๆ อีกทั้งอาชีพหมอนวดแผนไทย ก็ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต ซึ่งนี่คือวิชาชีพเฉพาะเช่นเดียวกับหมอ ทนายความ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบผู้มีอำนาจ ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับ อย่างน้อยตั้งแต่ฉบับปี 2540 ถึงฉบับประชามติ

สื่อที่เลว สื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องได้รับการจัดการอย่างแน่นอน และไม่สมควรที่จะมีใครมาปกป้อง แต่การใช้กฎหมายจัดการสื่ออย่างไม่แยกแยะ ด้วยอำนาจรัฐ ในที่สุดการปฏิรูปสื่อ ก็จะกลายเป็นเพียงช่องทางของเผด็จการที่จะปิดหู  ปิดปาก ปิดตาประชาชนเท่านั้นเอง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1116 วันที่  10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์