วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดันอช.เขลางค์บรรพต เสนอครม.ตั้งสวนกลุ่มชาติพันธุ์

จำนวนผู้เข้าชม webs counters


อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพตคืบหน้า  เตรียมนำเข้า ครม.พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกับกลุ่มเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ  จี้ให้เร่งรัดการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.งาว ด้วย ลั่นไม่ยอมเสียพื้นที่ 2 หมื่นไร่ให้กลุ่มชาติพันธุ์

จากที่เครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จ.ลำปาง   นำโดยนายสำคัญ วรรณบวร ประธานเครือข่ายฯ  ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ บริเวณดอยพระบาทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 99,000 ไร่ เขตติดต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ  ทั้งนี้ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า  ปัญหาหมอกควันไฟป่า  ปัญหาน้ำแล้ง  ซึ่งการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จะทำให้เกิดการควบคุมดูแลป่าได้อย่างเป็นระบบ และทั่วถึงมากขึ้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน จ.ลำปาง ในการขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.60 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง  นายดำรัส  โพธิ์ประสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง)  เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต หรือดอยพระบาท  ร่วมกับนายพูลสถิต วงศ์สวัสดิ์ ผอ.ส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13  นายสำคัญ วรรณบวร ประธานเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จ.ลำปาง  และตัวแทนจากหลายภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน เพื่อเตรียมการจัดทำวีดีทัศน์และข้อมูลต่างๆ นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 14 ก.พ.60

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายสำคัญ วรรณบวร  ประธานเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ  จ.ลำปาง กล่าวว่า หลังจากที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 59  ได้ข้อสรุปว่าดำเนินการตามขั้นตอนตามหนังสือคู่มือการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ คือ เสนอแนวคิด หลักการและเหตุผล ให้ประชาชน ผู้นำท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น  นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  ที่อยู่โดยรอบบริเวณร่างแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต  ได้รับทราบ ขอประชาคมความเห็นการสนับสนุนให้จัดตั้ง ขอมติจากสภาท้องถิ่น  รวมทั้งเผยแพร่แนวคิดหลักการและเหตุผล ให้ประชาชนในจังหวัดลำปางได้รับทราบด้วย  ดังนั้นจึงได้มีการเข้าพบผู้บริหารท้องถิ่น ชี้แจงความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งอุทยาน ซึ่งมีหลายท่านให้การสนับสนุน จากนั้นได้มีการตั้งคณะทำงาน โดยมีนายอนันต์ แก้ววัน หัวหน้าวนอุทยานม่อนพระยาแช่ เป็นเลขาในเรื่องการสำรวจความคิดเห็นชอบประชาชนในพื้นที่ กรณีที่จะลงสำรวจตามหมู่บ้าน เพื่อนำความคิดเห็นมาร่วมกันปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ชาวบ้านเสนอแนะ

ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.59 ได้ทำเรื่องขอเสนอจัดตั้งอุทยานแห่งชาติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางแล้ว พร้อมทำหนังสือไปถึงอธิบดีและรัฐมนตรีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอพิจารณาเรื่องนี้  พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายได้ทำหนังสือเร่งรัดเรื่องการประกาศเขตพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.งาว ในคราวเดียวกันด้วย เนื่องจากมีประเด็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ขอพื้นที่ 2 หมื่นไร่ไปเป็นพื้นที่จิตวิญญาณ ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าในอนาคตหากให้พื้นที่ไปแล้วจะเป็นอย่างไร ประกอบกับจะเป็นตัวอย่างกับผืนป่าอื่นๆว่าใครจะมาขอใช้ก็ให้ได้ ซึ่งป่าเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง  จึงได้ทำเรื่องเร่งรัดไป รวมทั้งขอจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพตด้วย

นายพีระเมศร์ ตื้อตันสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท กล่าวเพิ่มเติมกรณีพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทว่า  ตั้งแต่ปี 2541 ที่ได้มีการกันพื้นที่ 1,338 ไร่  เมื่อมีการขยายตัวของชุมชนได้กันเพิ่มเป็น 4,082 ไร่  ส่วนพื้นที่จิตวิญญาณได้มีการกันไว้แล้ว ซึ่งทางกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการเรียกร้องเพิ่มเติมมาอีก ซึ่งเกินความจำเป็น  เราได้ชี้แจงไปว่าการใช้วิถีปกติสามารถดำเนินการได้  ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติที่ตรงนี้จะอยู่ถาวรตลอดไป แต่ถ้ากันพื้นที่ให้ต่อไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผืนป่าจะยังสมบูรณ์  เราเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เคยชี้แจงไปหลายครั้งแต่เขาก็ไม่ยอมเข้าใจ

เจตนาของรัฐคือรักษาพื้นที่ป่าไว้ เนื่องจากพื้นที่ป่าบริเวณนั้นยังสมบูรณ์อยู่ ซึ่งเขาอ้างว่าตรงนั้นเป็นของเขา แต่จริงแล้วไม่ใช่เพราะเป็นของส่วนรวมของคนทั้งประเทศ เราไม่ได้ห้ามให้เข้าใช้พื้นที่ แต่ต้องมีกฎกติการ่วมกัน ทางรัฐจะสามารถเข้าไปสนับสนุนด้วยซ้ำไป  แต่เขาไม่ยอมจะขอดูแลพื้นที่เอง ซึ่งเมื่อเข้าไปเป็นพื้นที่จิตวิญญาณแล้ว กฎหมายก็จะไม่สามารถไปบังคับใช้อะไรได้ วันหนึ่งหากเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่แห่งนั้น เราก็จะไม่สามารถควบคุมได้

นายสำคัญ กล่าวว่า  ในเรื่องการเข้าไปใช้พื้นที่ป่า ทางอุทยานไมได้ขัดข้อง แต่ทางกลุ่มชาติพันธุ์เองที่ไม่ยอม ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ อุทยานก็จะไม่เกิด เมื่อมาขอจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ก็จะมีคนเลียนแบบขึ้นมาอีก จะขยายระบาดออกไป ไม่เช่นนั้นคงจะขอป่าที่ไหนเป็นของตัวเองก็ได้

ด้านนายดำรัส  โพธิ์ประสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง)  กล่าวว่า  กรมอุทยานดีใจที่มีประชาชนมีส่วนร่วมที่จะเข้ามาดูแล แต่การจะยกป่าสมบูรณ์ให้ใครจะมากหรือน้อยก็ต้องใช้หลักของการพิสูจน์ทราบ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ  กรณีการเป็นจิตวิญญาณในพื้นที่อื่นก็ได้มีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ประชาชนก็ยังเข้าไปใช้ประโยชน์ในผืนป่าได้ตามปกติ  ถึงแม้จะประกาศเป็นเขตอุทยาน ก็ยังเป็นป่าของส่วนรวม  

ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13   กล่าวว่า  เรื่องการผลักดันอุทยานแห่งชาติ ที่ จ.ลำปาง ตนเองจะนำเรียนอธิบดีอีกทางหนึ่ง ซึ่งท่านติดตามให้ความสนใจเรื่องนี้มาก และจะมีผู้บริหารระดับรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.ลำปางด้วย
           
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายประชารัฐฯ ได้มีการจัดทำวีดีทัศน์เกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต เพื่อจะนำไปนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 ก.พ.60 นี้ด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1116 วันที่  10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์