วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คนแม่เมาะพรึ่บทั้งหนุน-ค้านค.1

จำนวนผู้เข้าชม good hits

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping หรือ ค.1) ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7  ซึ่งการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2  หลังจากครั้งแรกต้องยกเลิกไปเนื่องจากมีกลุ่มชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านคัดค้านการประชุม เมื่อวันที่ 26 พ.ย.59 ที่ผ่านมา 

บรรยากาศในการจัดประชุมมีประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ในการตรวจสอบอาวุธต่างๆ  ซึ่งในการประชุมครั้งนี้  ได้มีการตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุมไว้ 1,500 คน  แต่ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมมากถึง  2,647 คนด้วยกัน

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ความเป็นมา เนื่องจาก กฟผ.ต้องการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการผลิตของโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7  ซึ่งเคยมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ หรือ EHIA ไปแล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 58  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ จึงต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นที่มาของการจัดความคิดเห็นในครั้งนี้  ประชาชนจะได้รับทราบรายละเอียด เกิดความเข้าใจ และทราบถึงผลการศึกษาดังกล่าว

จากนั้นเริ่มประชุมได้มีการบรรยายรายละเอียดผลการศึกษาทั้งหมด โดย ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม  ของ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7   และ รศ.ดร.ไกรชาติ ตันตระการอาภา จากมหาวิทยามหิดล เป็นผู้ดำเนินการบรรยาย  ถึงความจำเป็นในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 55 เมกกะวัตต์ รวมเป็น 655 เมกกะวัตต์  ของโรงไฟฟ้าทดแทนดังกล่าว

ดร. เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากกว่า กฟผ.ได้ขยายกำลังการผลิตจาก 600 เมกกะวัตต์ เป็น 655 เมกกะวัตต์ จึงต้องเริ่มดำเนินการจัดทำ EHIA ใหม่  วัตถุประสงค์คือต้องนำข้อมูลของโรงไฟฟ้าที่ขยายกำลังการผลิตเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างไรบ้าง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของวิตกกังวลและข้อเสนอแนะของประชาชน  ให้ทางทีมที่ปรึกษานำไปปรับขอบเขตให้เกิดความเหมาะสม   ซึ่งการเพิ่มกำลังการผลิตต้องมีการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น จากที่มีการระบุไว้เดิม ส่งผลให้ปริมาณเถ้าหนักและเถ้าลอยเพิ่มขึ้น  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าเดิม จะเห็นว่าควบคุมเถ้าหนักและเถ้าลอยได้ดีกว่า เนื่องจากมีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ดีกว่า รวมไปถึงควบคุมการมลสารที่ระบายออกจากปล่องของโรงไฟฟ้าก็เช่นกัน จะควบคุมไม่ให้เกินไปจาก EHIA ที่ระบุไว้เดิม   

การรับฟังความคิดเห็นนี้เป็นครั้งแรก คือการรับฟังเพื่อกำหนดขอบเขตผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะมีครั้งที่ 2  คือรับฟังความคิดเห็นแนวการในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม และครั้งสุดท้าย คือการจัดทำ EHIA แล้วเสร็จ จะทบทวนร่างรายงาน คาดว่าจะจัดในเดือนตุลาคม  ดร. เบญจภรณ์  กล่าว

หลังจบการบรรยาย  ได้เปิดให้ประชาชนที่มาลงทะเบียนแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาไว้  ทั้งหมด  59  คน   ทยอยขึ้นแสดงความคิดเห็น คนละไม่เกิน 8 นาที  ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ทั้งอดีตนายก อบต. และนายก อบต. รวมถึงผู้นำชุมชน  เยาวชนและประชาชนทั่วไป แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งให้การสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน และสนับสนุนการขยายกำลังการผลิต  และแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการขยายกำลังการผลิตอีก พร้อมเสนอข้อร้องเรียนต่างๆ

นายสุนทร ใจแก้ว อดีต นายก อบต.สบป้าด   กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า  ตั้งแต่ปี 35 การไฟฟ้าได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ฯ ใน ต.สบป้าด และ ต.บ้านดง  มีการฟ้องร้องกันหลายครั้ง การช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังยังแก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันเงินกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวแม่เมาะ เป็นเงินเยียวยาประชาชน แต่มีรูปแบบคณะกรรมการบริหารการจัดการ และเงินกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้ากองอยู่ที่ อ.แม่เมาะ อดีตยังมีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับการร้องเรียน และการประท้วง  อยากให้ กฟผ.ไปทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดทำโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยออกจากใจของ กฟผ.เอง

ตนได้ทำหนังสือถึง ผบ.มทบ.32  ผู้ว่าการ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาฯ  เสนอ 11 ข้อ เพื่อสร้างอนาคตระหว่างประชาชน และ กฟผ.  คือ 1. จัดตั้งกองทุนรัฐสวัสดิการให้ประชาชน 500 ล้านบาทต่อปี 2.ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ 300 ล้านบาทต่อปี 3.แก้ไขระเบียบการรับสมัครลูกจ้างและพนักงานทุกระดับ โดยไม่ต้องผ่านบริษัท ให้ กฟผ.ดำเนินการโดยตรงให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าทำงานครอบครัวละ 1 คน  4.ทำโครงการติดตั้งด้วยไฟฟ้า ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้ประชาชน 5.รับผิดชอบค่าใช้กระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะผู้รับผลกระทบจากการขยายโรงไฟฟ้า 6.สนับสนุนค่าภาคหลวงแร่ให้ อปท.ในเขตประทานบัตร 200 ล้านบาทต่อปี 7.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประเมินผลพิจารณาปัญหาทุกเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 8.ยกเลิกกำหนดเขตพื้นที่ใหม่ ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย 9.ใช้สถาบันศึกษาภาครัฐเข้ามาศึกษาผลกระทบการมีส่วนได้เสีย  10.อพยพประชาชนออกจากรัศมี 20 ก.ม. 11.ติดตั้งเครื่องวัดมลพิษปากปล่องควันอย่างชัดเจน   ในเมื่อ กฟผ.กล้าลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ก็ต้องลงทุนช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของคน 5 หมื่นคนให้ได้

นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์  นายก อบต.บ้านดง  กล่าวว่า  เนื่องจากการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ชอบธรรม ไม่ได้กำหนดขอบเขตผลกระทบครอบคลุมไปถึง ต.บ้านดง ทั้งที่ได้มีการขุดดิน นำดินมาทิ้งในเขต ต.บ้านดง และมีการแจ้ง อบต.เข้าไปตรวจสอบร่วมด้วยทุกครั้ง ถ้าพี่น้อง ต.บ้านดง หยุดไม่ให้ทิ้งดินจะนำไปทิ้งที่ไหน  ข้อเรียกร้องของ ต.บ้านดง คือ  ให้ กฟผ.ยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนร้ายแรง ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ   เนื่องจากขั้นตอนการศึกษารายละเอียดโครงการรวบรัดไม่โปร่งใสชัดเจน ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งดิน  การใช้ถ่านหินลิกไนต์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 8,540 ตัน เป็น 10,401 ตันต่อวันตามกำลังผลิต  อย่างไรก็ตามถึงแม้ ค. 1 จะผ่านแต่ชาว ต.บ้านดงไม่ยอมรับในส่วนนี้

จ.ส.อ.จารุเดช อินตา ชาวบ้าน ต.สบป้าด  กล่าวว่า  เห็นด้วยที่จะต้องก่อสร้างต่อไป แต่ต้องทำให้ถูกต้อง  แต่ที่ขึ้นมาเรียกร้องเนื่องจากทุกวันนี้คุณภาพชีวิตคนแม่เมาะก็ยังยากจนอยู่ คนต่างถิ่นเข้ามายึดพื้นที่ ชาวบ้านต้องซื้ออาหารแพงในราคาของพนักงาน กฟผ.แม่เมาะ  ลูกหลานที่ อ.แม่เมาะ จบวิศวะ ก็ยังสอบเข้าทำงาน กฟผ.ไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่างมากันไว้ น้อยใจที่ว่าเด็กเรียนมาแล้วแต่กลับสมัครเข้าทำงาน กฟผ.ไม่ได้   แม้จะเห็นด้วยในการก่อสร้าง แต่ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ต้องดูแล เยียวยาคนแม่เมาะอย่างมีความจริงใจ 

นายประทีป ดีประสิทธิ์  ราษฎรบ้านเวียงสวรรค์ กล่าวว่า  เคยมาทำเหมืองถ่านหินตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนี้อายุ 70 ปี สุขภาพยังแข็งแรง  วันนี้ปัญหามีไว้ให้แก้ ถ้านับย้อนหลังไป 20 ปี คนเฒ่าคนแก่ก็คงจะรู้สภาพดี พอมีการไฟฟ้าเข้ามาก็เจริญรุ่งเรือง  ในขณะเดียวกันก็มีปัญหา แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ เมื่อโรงไฟฟ้าโรงที่ 1-3 ขึ้น ปลูกผักปลูกไม้อะไรก็ตายหมด แต่ กฟผ.ได้แก้ไขแล้ว ปัจจุบันปลูกได้กินได้  ถึงอย่างไรโรงไฟฟ้าก็ต้องเกิด ในเมื่อเรามีวัตถุดิบใช้ได้เองไม่ต้องไปซื้อใคร  แต่ กฟผ. ก็ต้องแก้ปัญหาต่างๆให้ได้ ยกตัวอย่าง เรื่องถนนหนทาง บริเวณโค้งห้วยคิงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง  เป็นเส้นทางเข้าไปสู่โรงไฟฟ้า ก็ควรจะช่วยเหลือด้วย เพราะเป็นผลงานของท่านผู้บริหาร กฟผ.

นอกจากนั้นยังมีการเสนอในเรื่องของทุนการศึกษาที่ควรให้เยาวชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ การรับคนในพื้นที่ อ.แม่เมาะเข้าทำงานใน กฟผ.  รวมถึงการบรรจุลูกจ้างที่ทำงานมานานมากว่า 10 ปี ให้เป็นพนักงาน  ซึ่งถือว่าเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า กฟผ.พึ่งคนแม่เมาะ คนแม่เมาะก็ต้องพึ่ง กฟผ.  เป็นต้น

หลังรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ ดร. เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ทีมฯ ขอขอบคุณชาวแม่เมาะที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง แสดงความคิดเห็นและข้อวิตกกังวล รวมทั้งสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ในเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ค.1  ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับสิ่งที่ประชาชนมีความกังวล เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารงบประมาณของกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า การดูแลด้านสุขภาพและสาธารณูปโภคให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เป็นต้น โดยข้อคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด จะนำไปกำหนดขอบเขตและหามาตรการเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 ตำบล ได้แก่ ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ ต่อไป และหลังจากนี้จะเป็นการทำ ค.2 (Public Screening) โดยการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์และพูดคุยกับกลุ่มประชาชนในพื้นที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการทบทวนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรายงาน EHIA หรือ ค.3 (Public Review) ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องอื่นๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ เช่น ส่งไปรษณียบัตร โทรศัพท์ และโทรสาร ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่รับฟังความคิดเห็นฯ ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 สำหรับประชาชนที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณวีณิฐฐา วรเกียรติธนากร และ คุณรัตติยา งามประดิษฐ์ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด 151 อาคารทีม ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 โทรศัพท์ 0-2509-9000 กด 3201-5 ต่อ 104, 106 โทรสาร 0-2509-9109

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์