วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เมื่อลูกนกตกรัง

จำนวนผู้เข้าชม website counter

เข้าสู่ฤดูฝน ฝนตก ลมแรง บางคนอาจเคยเห็นลูกนกพลัดตกลงมาจากรัง แต่เรามักมีภาพจำว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะกลิ่นมนุษย์จะติดตัวลูกนก ทำให้พ่อ-แม่นกไม่มารับกลับรัง ทว่าในที่สุด ลูกนกก็สิ้นใจอยู่ตรงนั้นนั่นเอง

หลังจากทำตัวไม่ถูกอยู่นาน จะช่วย หรือไม่ยุ่งดี สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยก็เผยแพร่วิธีช่วยลูกนกตกรังในเว็บไซต์ ซึ่งคงมีคนประสบปัญหานี้อยู่พอสมควร ก่อนอื่นเลย สิ่งแรกที่ควรทำคือ นำกลับไปคืนรัง หรือพ่อ-แม่นกให้เร็วที่สุดความเข้าใจที่ว่า หากเราจับลูกนกจะมีกลิ่นมนุษย์ติดตัวลูกนกนั้น สมาคมอนุรักษ์ฯ นกชี้แจงว่า นกมีประสาทการรับกลิ่นไม่ดี การจับลูกนกไม่ได้ส่งผลอะไร จะมีก็แต่กรณีจับบ่อยและแรงเกินไป ที่อาจทำให้ลูกนกบอบช้ำได้

ขณะเดียวกันก็ขอให้การนำมาเลี้ยงเองเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่หากต้องรับเลี้ยงจริง ๆ ก็คงต้องดูแลกันให้ดีที่สุด

สำหรับลูกนกแรกเกิดที่ไม่มีขน หรือมีแค่ขนอุย ให้กินอาหารลูกป้อน หรืออาหารเม็ดนกเอี้ยง-นกขุนทอง หาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ จะให้อาหารหมาอาหารแมวก็ได้ แต่สามารถให้แก้ขัดได้เพียง 1-3 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากอาหารหมา-แมวมีธาตุเหล็กสูงเกินความต้องการของนก

เมื่อได้อาหารเม็ดมาก็จัดแจงแช่น้ำให้พองสัก 10 นาที แล้วแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ ป้อนเมื่อลูกนกร้องขออาหารปกติลูกนกจะร้องและอ้าปากเมื่อหิว หากไม่ร้องและอ้าปากขอ แสดงว่ายังไม่หิวไม่ก็อาจป่วย หรือกำลังตกใจ หากพบว่าไม่ได้ป่วย ในกรณีลูกนกยังเด็ก ปากจะยังไม่แข็ง ให้ใช้ไซริงก์ดูดอาหารแล้วป้อน หากปากแข็งแรงแล้ว จับอ้าปากแล้วป้อนได้เลย เมื่อเขารู้ว่าเป็นอาหาร จะเลิกตกใจกลัว แล้วร้องขออาหารเอง

นกทุกชนิดตอนเด็ก ๆ ต้องกินโปรตีน เช่น หนอนนก แมลง และอาหารเม็ดอย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องป้อนน้ำลูกนกอีก เพราะอาหารที่เราป้อนแช่น้ำให้อยู่แล้ว และห้ามให้อาหารเสริมเด็ก เพราะส่วนใหญ่มีนมเป็นส่วนผสมหลัก ลูกนกไม่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยนมได้ จะทำให้ท้องเสียและตาย

ลูกนกแรกเกิดจำเป็นต้องกกไฟให้ความอบอุ่น เนื่องจากลูกนกยังไม่มีขน ใช้หลอดไฟสีเหลือง 70 วัตต์ โดยแขวนหลอดไฟห่างจากลูกนกประมาณ 15-30 เซนติเมตร หรือวัดอุณหภูมิใกล้ตัวลูกนกด้วยเทอร์โมมิเตอร์ในช่วง 30-35 องศาเซลเซียส และอย่าเปิดตลอดเวลา จะทำให้ลูกนกร้อนเกินไปและตายได้

หากเป็นลูกนกที่ออกจากรังแล้วจะมีขนค่อนข้างเต็มตัว แต่หางยังสั้น ปากเริ่มแข็งแรง จิกกินอาหารเองได้ ควรให้หนอนนก หรืออาหารเม็ดนก

สิ่งสำคัญคือ หาโอกาสปล่อยคืนพ่อ-แม่นก วิธีนำลูกนกไปคืนรัง หากรังพัง หาตะกร้า กระเช้าเก่า ๆ หรือกระถางต้นไม้ที่สามารถแขวนได้ ทำเป็นรังเทียมให้ลูกนก แล้วนำไปแขวนใกล้บริเวณที่พบลูกนกมากที่สุด โดยให้สูงจากพื้นดิน 1 เมตรขึ้นไป เพื่อให้พ้นจากสัตว์ผู้ล่า หากหารังเดิมของลูกนกพบ จับใส่คืนรังเดิมได้เลย

หลังจากนั้นเฝ้าดูสัก 2 ชั่วโมงสำหรับกลุ่มนกกลางวัน เช่น นกปรอด นกกางเขนบ้าน นกเอี้ยง ฯลฯ แต่หากเป็นกลุ่มนกฮูก นกแสก ทิ้งไว้ข้ามคืน หรือเกิน 12 ชั่วโมง หากลูกนกยังอยู่ที่เดิม หรือพบว่านกบาดเจ็บ กระดูกหัก หรือมีบาดแผล ควรนำลูกนกส่งสัตวแพทย์ หรือนำส่งหน่วยงานช่วยเหลือสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ใกล้บ้าน

ในกรณีนกบินชนกระจก ให้นำนกไปพักในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้าชนไม่แรง เมื่อพักแล้วนกจะบินต่อได้เอง หากอาการไม่ดี อาจช่วยโดยผสมกลูโคส หรือเกลือแร่ หยดเล็ก ๆ ใส่มุมปาก จะช่วยให้มีแรง ถ้าชนแรงจนกระดูกหักคงต้องส่งสัตวแพทย์เท่านั้น

สามารถถามข้อมูลการช่วยเหลือนกเบื้องต้นได้ที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2588-2277 หากเป็นนกป่า ติดต่อคลินิกสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สายด่วน 1362


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์