วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

นายทุนต่างถิ่น รุกป่าสงวน114ไร่ ปลูกต้นยางแทน



จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 13 ก.ค. 60   เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง โดยการอำนวยการสั่งการของนายชูเกียรติ พงศ์ศิริวรรณ ผอ.สำนักฯ  พร้อมด้วยสายตรวจปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้สายที่ 1   หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป.21  (แม่ทาน)  ลป.3 (แม่ปราบ) ลป.5  (แม่กึ๊ด) ลป.26 (แม่เรียง)  ลป.37 (แม่ยาว)  ตำรวจ ปทส.  ตำรวจ ศปทส.ภ.5   ตำรวจ กก.ตชด.ที่ 33 เชียงใหม่  กอ.รมน.  ทหาร กกล.รส.  เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามภาคเหนือ กรมป่าไม้  เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13  (สาขาลำปาง)  ตำรวจ สภ.เกาะคา  ฝ่ายปกครอง อ.เกาะคา  สนธิกำลังร่วมกันเข้าตรวจยึดพื้นที่ป่าถูกบุกรุก จำนวน 3 จุด   ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ไฮ  เขตบ้านสบจาง หมู่ 6 และบ้านวังพร้าว ม. 2  ต.วังพร้าว อ.เกาะคา

โดยจุดแรกเจ้าหน้าที่ได้เข้ายึดแปลงปลูกยางพารา ที่บ้านสบจาง หมู่ 6 ต.วังพร้าว อ.เกาะคา เนื้อที่จำนวน 83-0-98 ไร่ คิดค่าเสียหายของรัฐเป็นเงินจำนวน 5,660,660 บาท  ซึ่งพบว่ามีการบุกรุกป่าเข้าครอบครองทำประโยชน์ พบต้นยางพาราอายุประมาณ 10 ปี ปลูกเรียงเป็นแนวยาว  ส่วนแปลงที่ 2 ได้เข้าตรวจยึดแปลงปลูกยางพารา ที่บ้านวังพร้าว หมู่ 2 ต.วังพร้าว อ.เกาะคา พบต้นยางมีอายุประมาณ 7 ปี ปลูกในเนื้อที่จำนวน 17-2-08 ไร่  คิดค่าเสียหายของรัฐเป็นเงินจำนวน 1,191,360 บาท  และแปลงที่ 3  อยู่ในเขตบ้านวังพร้าว หมู่ 2 ต.วังพร้าว   เนื้อที่จำนวน 14-2-16  ไร่ คิดค่าเสียหายของรัฐเป็นเงินจำนวน 988,720 บาท


การเข้าตรวจยึดในครั้งนี้ เนื่องมาจาก เมื่อช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 58  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง อ.เกาะคา ได้ร่วมกันตรวจสอบพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ครอบครองและเข้าทำประโยชน์ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจต้นยางพาราเป็นบริเวณกว้าง รวม 3 แปลงด้วยกัน  เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือตรวจวัดหาค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์โดยใช้สัญญาณผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) พบว่าพื้นที่บริเวณแปลงปลูกต้นยางพาราอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ไฮ    การครอบครองที่ดินเป็นการเข้าครอบครองที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่มีหลักฐานหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน    และเป็นพื้นที่จำนวนมาก การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้เงินลงทุนที่สูง เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาทั่วไปไม่อาจสามารถกระทำได้ การกระทำเข้าข่ายเป็นนายทุนหรือผู้ที่ร่ำรวย สอบถามผู้นำท้องถิ่น ไม่มีผู้ใดรู้จักหรือเคยพบเห็นผู้บุกรุก ครอบครองป่าเพื่อปลูกต้นยางพาราบริเวณพื้นที่ดังกล่าว  จากการสืบสวนทราบว่าเป็นคนนอกพื้นที่แอบลักลอบเข้ามาบุกรุกผืนป่า ชาวบ้านในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ยืนยันว่าเจ้าของเป็นคนต่างถิ่นและไม่ใช่ผู้ยากไร้หรือผู้ไร้ที่ทำกิน ซึ่งขณะตรวจสอบไม่พบบุคคลใดอยู่ในพื้นที่

คณะเจ้าหน้าที่ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี, ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2479 มาตรา 9  และกระทำผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14   จึงได้มีการนำเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดลำปาง ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.60 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม รับทราบ และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้สนธิกำลังเข้าตรวจยึดพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทั้ง 3 แปลง  รวมพื้นที่ทั้งหมด 114-5-22  ไร่    นำส่ง พ.ต.ต.พงษ์นิรันดร์ เจริญค้า สว.(สอบสวน) สภ.เกาะคา  สืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้บุกรุกป่าและผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1137 วันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์