วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ผุดประตูระบายน้ำ แก้แล้งลอดท่วม ช่วยเกษตรสบปราบ

จำนวนผู้เข้าชม

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารสำนักงานโครงการเขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง สำนักชลประทานที่ 2 ลำปาง จัดกิจกรรมสื่อสัญจร บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำวัง ภายใต้โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประตูระบายน้ำบ้านวังยาว ต.แม่กั๋ว อ.สบปราบ จ.ลำปาง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำวัง และเตรียมเชื่อมโยงแนวคิดนโยบายเกษตร 4.0 มาปรับใช้ในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำวังอย่างมีประสิทธิภาพร้อยแบบเปอร์เซ็นต์ โดยมีนายอัตถพงษ์ ฉันทานุมัติ รองผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมคณะผู้บริหารร่วมให้ความรู้และตอบข้อซักถาม

นายอัตถพงษ์  กล่าวว่า เนื่องจากลุ่มน้ำวังที่มีพื้นที่อยู่ราว 10,791 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 6,746,250 ไร่ มีความยาวตามลำน้ำรวม 460 กิโลเมตร และปัจจุบันนี้ลุ่มน้ำวังยังประสบกับปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากการขยายตัวของชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัดตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาความต้องการน้ำในการพัฒนามากยิ่งขึ้น ทั้งในด้างสังคมชุมชนและด้านพื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นปัจจัยหลักในอาชีพที่ทำอยู่ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ในลุ่มน้ำสาขาลำน้ำแม่ตุ๋ย แม่น้ำวังตอนกลาง แม่น้ำจาง ลำน้ำแม่ต๋ำ แม่น้ำวังตอนล่าง ซึ่งมาจากการขยายตัวของพื้นทางการเกษตรที่เกินศักยภาพของน้ำในลุ่มน้ำ และยังเกิดปัญหาในช่วงฤดูน้ำหลากหลายพื้นที่ก็มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมสูงจนสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำวังจะมีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างเขื่อนกิ่วลม เขื่อนแม่จางและเขื่อนกิ่วคอหมาแล้วก็ตาม เคยทดลองปล่อยน้ำจากเขื่อนกิ่วลมออกมา 10 ล้าน ลบ.ม. แต่พบว่าน้ำมาถึงท้ายน้ำเพียง 3 ล้าน ลบ.ม. เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ปล่อยมาทั้งหมด  ซึ่งบรรเทาปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนกลางได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

รอง ผอ.สำนักงานชลประทาน กล่าวต่อไปว่า  โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว จ.ลำปาง จึงได้เข้ามาอยู่ในแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว ( พ.ศ. 2558-2569 ) เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและอย่างยั่งยืน ทางกรมชลประทานจึงพยายามเร่งศึกษาโครงก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังยาว เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษานานถึง 1 ปี ซึ่งก็พบปัญหาไม่มากนักและส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาจากพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎร  แต่ราษฎรส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า ซึ่งก็ได้มีการเจรจากับพื้นที่จะได้รับกระทบมาแล้วหลายรอบ จนทั้งสองฝ่ายต่างก็มีข้อสรุปที่ตรงกัน และเมื่อโครงการสร้างประตูระบายน้ำแล้วเสร็จ ก็จะสามารถเก็บกันน้ำเอาได้สูงถึง 6.125 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ถึง 18,000 ไร่ ในฤดูแล้งก็จะส่งน้ำได้ถึง 10,390 ไร่ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ถึง 2,855 ครัวเรือน ในพื้นที่ ต.สบปราบ ต.แม่กั๋ว ต.นายาง และ ต.สมัย  อ.สบปราบ  ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการจัดส่งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ให้กับสำนักนโยบายและแผนงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา เร็วที่สุดคาดว่าจะทำเรื่องของบประมาณได้ในปี 2562  ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ 400 ล้านบาท  หากไม่ติดขัดอะไรคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 ใช้เวลา 3 ปี  กำหนดเสร็จในปี 2566 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1136 วันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2560) 
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์