วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560

50ปีแววเบเกอรี หอมกลิ่นขนมผสมเรื่องเล่า

จำนวนผู้เข้าชม my widget for counting

บนถนนทิพย์วรรณ กลางเมืองลำปาง ไม่เพียงตึกแถวคูหานั้นจะหอมละมุนไปด้วยกลิ่นนมเนยตามแบบฉบับร้านเบเกอรีทั่วไปแต่ยังอบอวลด้วยกลิ่นอายบางอย่าง คลับคล้ายว่าจะเป็นความหวานแห่งวันวานที่มาพร้อมรสชาติ ซึ่งเราแสนคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก

ภายในร้าน เหล่าขนมถูกจัดวางในตู้ไม้กรุกระจกอย่างเป็นระเบียบ โดยมีขนมโตเกียวและเอแคลร์วางซ้อนกันอยู่ด้านบนสุดเพื่อให้หยิบง่าย บ่งบอกอยู่ในทีว่า นี่ล่ะ ขนมที่ขายดีของร้าน ส่วนขนมปังนมสดและขนมปังไส้ไก่นั้นก็ยังคงวางขายเหมือนเมื่อ 50 กว่าปีก่อน สมัยที่สองสามีภรรยา วนิดาและศักดา มารุจิวัฒน์ตัดสินใจเปิดร้านเบเกอรีเล็กๆร่วมยุคกับร้านเบเกอรีเจ้าแรกๆ อีกสองร้าน

วนิดา ซึ่งขณะนั้นอายุราว 25 ปี เรียนรู้การทำขนมจากวิทยาลัยสารพัดช่าง ขนมโบราณอย่างปั้นสิบ กะหรี่พัฟ กังหันแยม เธอปรับสูตรจนลงตัวจึงเริ่มทำขาย แรก ๆ ก็ส่งร้านค้า บางครั้งหาบไปขายที่ตลาด กระทั่งเริ่มมีลูกค้ามากขึ้น จึงได้มีโอกาสเปิดร้าน โดยใช้ชื่อว่า “ร้านแววเบเกอรี”ตามชื่อเล่นของเธอเอง

“ตั้งแต่จำความได้ ผมก็เห็นแม่ทำขนมแล้วล่ะครับ” ถนอม มารุจิวัฒน์ วัย 49 ปี เจ้าของร้านรุ่นที่2 พูดพลางยิ้ม “ตอนนั้นหน้าร้านมีแค่ตู้ 1 ใบ กับขวดโหลใส่พวกขนมแห้งๆ เป็นภาพที่ผมจำได้ดีเลยทีเดียว” ถนอมว่า

“แม่ทำขนม ส่วนพ่อจะขี่รถเวสปาเอาไปส่งตามร้านค้า พอเริ่มขายดีขึ้น จึงหันมาขายหน้าร้านอย่างเดียวจากขนมแห้งๆ พ่อกับแม่ก็เริ่มหันมาทำขนมปัง ขนมปังนมสดกับขนมปังไส้ไก่นี่ เป็นขนมปังชนิดแรกๆ ที่แม่ทำเลยครับ ขายตั้งแต่ถุงละบาทห้าสิบ รวมทั้งแยมโรลฝีมือพ่อ ซึ่งต่อมากลายเป็นซิกเนเจอร์ของร้านแววเบเกอรีจวบจนทุกวันนี้” ถนอมเล่าอย่างภูมิใจ ส่วนเรานึกไม่ออกเลยว่า สมัยก่อนตอนที่ป้าแววใช้เตาอบถ่านอบขนมปังนั้น จะต้องใช้ความชำนิชำนาญและความอุตสาหะมากแค่ไหน

หลังจากทำขนมปังและแยมโรลจนลูกค้าติดใจ ก็ถึงเวลาของขนมโตเกียว ถนอมเล่าว่า ขนมโตเกียว ซึ่งครองใจลูกค้ามายาวนานนี้ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ตนเองและพี่น้องชอบวิ่งไปซื้อขนมโตเกียวจากร้านค้าใกล้บ้านมากินเสมอ ครั้นแม่ขอลองชิมบ้าง ก็บอกกับลูกๆว่า แม่น่าจะทำได้ แล้วแม่ก็ทำจริงๆ แถมยังอร่อยเสียด้วย และนั่นคือที่มาของขนมโตเกียว หลังจากนั้นการทำเอแคลร์ควบคู่ไปด้วยก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไส้คล้ายๆ กัน

ทุกวันนี้ วนิดา หรือป้าแววในวัย 76 ปีวางมือจากการทำขนมแล้ว เช่นเดียวกับลุงศักดา ผู้เป็นพ่อในวัย 80 ปี และได้ส่งต่อร้านแววเบเกอรีให้ลูกชาย คือ ถนอม ตั้งแต่เขาอายุ25ปี เท่ากับวัยของป้าแววสมัยที่เปิดร้านใหม่ๆ โดยมีน้องสาวของถนอม-ธัญลักษณ์ มารุจิวัฒน์ รวมทั้งหลานชาย-แทน มารุจิวัฒน์ช่วยกันทำขนมอีกสองแรง ร้านแววเบเกอรีจึงเป็นธุรกิจในครอบครัวขนาดเล็ก ที่มีข้อดีคือยังคงรักษารสชาติเดิมๆ ของขนมไว้ได้อย่างไม่ตกหล่น ทว่าข้อเสียก็คือไม่สามารถผลิตขนมได้มากเท่าร้านใหญ่ๆความหลากหลายของชนิดขนมก็น้อย

“ด้วยความที่ทำขนมกันแค่ 3-4 คน นี่คือข้อจำกัดเรื่องแรงงานของเราครับ แต่มันก็ดีตรงที่ไม่ต้องมาปวดหัวกับคนอื่น” ถนอมพูดพลางหัวเราะ “ส่วนขนมที่วางขายอยู่นี้ เราประเมินแล้วว่า ขายหมดแน่นอน และเป็นขนมที่ลูกค้าติดแล้ว ผมเคยลองทำขนมใหม่ๆ อยู่พักหนึ่งก็ต้องเลิกไป เพราะลูกค้าไม่ชอบ เขายังคงผูกพันกับขนมหน้าตาเดิมๆ มากกว่า”

ถนอมพูดอย่างน่าฟังว่า ทุกคนในครอบครัวไม่ได้กักขังตัวเองไว้กับการทำขนม พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมุ่งผลิตขนมให้ได้มากๆ จนทุกคนเหนื่อยล้าและสูญเสียอิสระในการใช้ชีวิต ทุกวันนี้ร้านแววเบเกอรีจึงไม่ได้เน้นความหลากหลายของขนม ลูกค้าจะรู้ว่าร้านนี้ขายขนมเพียงไม่กี่อย่าง แยมโรล โตเกียว เอแคลร์ เดลี ขนมปัง บัตเตอร์เค้ก ทว่าสิ่งที่พวกเขาคาดหวังคือรสชาติเดิมเหมือนที่กินมาตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งแพ็กเกจก็ไม่ต้องทันสมัย ยังคงเรียบง่ายเหมือนสมัยป้าแววไม่มีผิด

“เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรา คือการใช้ทั้งเครื่องจักรและมือค่ะ” ธัญลักษณ์กล่าวเสริมพี่ชาย “เรามีเทคนิคในการตีแป้งด้วยมือ กับเคล็ดลับของส่วนผสมที่สืบทอดมาจากแม่ ตรงนี้ทำให้เนื้อขนมนุ่ม ลูกค้าประจำจะรู้ว่าขนมของเราไม่เหมือนที่อื่น” เธอยิ้มกว้าง

นอกจากรสชาติที่ต้องรักษาไว้ ความสดใหม่ก็สำคัญ ถนอมบอกว่า หัวใจของการทำเบเกอรี คือ ความสด ความสะอาด ขณะเดียวกันขนมที่ร้านก็ไม่ใช้สารกันบูดกันรา เพราะแม่บอกกับเขาว่าให้ทำขนมเหมือนกับว่าคนในครอบครัวกินเอง

“อย่าเสียดายของเหลือ แม่ย้ำเสมอครับ”

เช่นนี้ขนมส่วนใหญ่ในร้านจึงเน้นทำวันต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมโตเกียวและเอแคลร์ ที่จำกัดจำนวนในการทำ เพื่อให้ขายหมดภายในวันเดียว ส่วนแยมโรลกับขนมปังต่างๆ สามารถเก็บนอกตู้เย็นได้เต็มที่3 วัน
ร้านแววเบเกอรีเปิดเวลา09.00-21.00 นาฬิกา กิจวัตรประจำวันของทุกคนที่นี่ เริ่มตั้งแต่เวลา06.00 นาฬิกา ด้วยการกวนไส้ขนมโตเกียว วุ่นวายกับขนมโตเกียวจนถึงเวลา08.00 นาฬิกากว่าจะเสร็จ ถึงตอนนี้ถนอมจะไปส่งขนมโตเกียวที่ร้านสหกรณ์ของโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง หลังจากนั้นจึงกลับมาทำแยมโรล

เที่ยงตรงเป็นเวลาที่ขนมบางส่วนจะเริ่มทยอยออกมาเฉิดฉายในตู้ แต่หากอยากกินขนมปังร้อนๆ แล้วล่ะก็ ต้องมาช่วงเวลา17.00-18.00 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงที่ขนมปังสดใหม่จะอ้อยอิ่งออกจากเตามาส่งกลิ่นหอมเย้ายวน

“ผมสังเกตว่า ร้านเราจะขายดีช่วงเทศกาลวันหยุดยาวๆครับ ผมจะเจอลูกค้าเก่า กลับมาซื้อช่วงนั้น บางคนบอกว่าตอนเด็กๆพ่อแม่เคยพามาซื้อ โตขึ้นไปทำงานต่างถิ่น กลับมาบ้านแต่ละครั้งจึงมาตามหาขนมที่เคยกินน่ะครับ” ถนอมว่า

อาจบางทีเราไม่เพียงมาตามหารสชาติที่คุ้นเคย มากกว่านั้นคือวันวัยในอดีต ซึ่งสามารถย้อนคืนได้อย่างไม่น่าเชื่อจากขนมชิ้นเล็กๆ ในมือ ขนมที่ไม่เพียงหอมหวานจากคุณภาพของวัตถุดิบ แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวยาวนานในทุกคำเคี้ยว
                                                                       
เรื่อง/ภาพ : กุลธิดา สืบหล้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1143 วันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์