วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

บก.ชี้ทางสื่อท้องถิ่นทวนกระแสยุค4.0

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

 ในการเสวนา หัวข้อ “การปรับตัวการสื่อสารในยุค 4.0 “ จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 13 กันยายน นี้ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรวมทั้งสื่อท้องถิ่นอื่นๆ ต้องปรับตัวตามภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ไม่ต่างไปจากสื่อกระแสหลักในส่วนกลาง ซึ่งแนวทางหนึ่งในการปรับตัว คือการปรับเนื้อหาเป็นข่าวท้องถิ่น ข่าวที่ใกล้ตัว เป็นลักษณะของ หนังสือพิมพ์ชุมชน หรือ Community Newspapers

“ปัญหาของหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง  คือการเสนอข่าวที่ซ้ำกับสื่ออื่นๆ และไม่พยายามปรับเนื้อหาที่เป็นข่าวเฉพาะ หรือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน คนจึงไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ให้ความสนใจในเรื่องราวของท้องถิ่นมากขึ้น เช่นลานนาโพสต์ที่เสนอข่าว ปัญหาขยะและน้ำเสียในแม่น้ำวัง ที่เราอาจจะผ่านไปผ่านมา โดยไม่รู้สึกว่าเป็นข่าว หรือการเสนอข่าวจอกที่เขื่อนกิ่วลม ซึ่งเราอาจมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ลานนาโพสต์ได้เสนอข่าวทั้งสองชิ้นนี้ และส่งข่าวไปแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง เราก็เอาชนะไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน กรุงเทพธุรกิจมาแล้ว”

นายจักร์กฤษ  กล่าวและว่า เมื่อเราเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ไม่ซ้ำกับสื่ออื่นๆ หนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นทางเลือกอยู่ แต่ก็อาจต้องใช้เวลา และสร้างการยอมรับกับคนอ่านในท้องถิ่น ที่ยังคุ้นเคยกับข่าวชาวบ้าน ข่าวทั่วไป อย่างไรก็ตามก็ไม่จำเป็นต้องตามกระแส 4.0 ที่ต้องปรับตัวไปสื่อออนไลน์ หรือสื่อรูปแบบอื่น แต่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเรียกว่าสื่อยุคใด ก็ต้องมีหลักการความรับผิดชอบ มีจริยธรรมกำกับการทำงานตลอดเวลา

สำหรับการประชาสัมพันธ์ หรือข่าวจากกฟผ.ก็ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ยอมเหน็ดเหนื่อย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ปรับตัว ปรับเนื้อหา และตอบคำถามให้ทันสถานการณ์ เช่น การสื่อสารประเด็นข่าว ที่อาจมีเรื่องเทคนิค มีศัพท์แสงเฉพาะ ย่อยให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ศึกษาการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ที่เน้นคุณค่าข่าว เหมือนการเขียนข่าวของนักข่าวอาชีพ ไม่เพียงการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กรเท่านั้น นอกจากนั้น การทำข่าวกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน กับ กฟผ.สำหรับนักข่าวก็ต้องฟังความทั้งสองด้าน เสนอข่าวสองด้าน เพื่อให้คนอ่านตัดสินเอง ไม่ต้องไปชี้นำ

การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ หัวข้อ การปรับตัวการสื่อสารในยุค 4.0 ” ครั้งนี้ ขอบเขตการเสวนามาจากการที่ รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโดยแบ่งได้เป็น 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 การปฏิวัติในภาคเกษตร หรือที่เรียกกันว่า Green Evolution เน้นการเกษตรเป็นหลัก ยุคที่ 2 การปรับเปลี่ยนสู่สังคมอุตสาหกรรม ผ่าน Industrial Revolution เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเบา ยุคที่ 3 เกิด Digital Revolution เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก สำหรับยุคที่ 4 หรือยุค 4.0 คือ The Fourth industrial Revolution หรือยุคปัจจุบัน เกิดการรวมตัวและแตกตัวของเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ทั้งนี้ในยุค 4.0 เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เข้ามามีส่วนในทุกภาคส่วนของการใช้ชีวิตของคนไทย ซึ่งกระบวนการการสื่อสารในปัจจุบันก็มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เช่นกัน โดยเฉพาะ Social Media ที่เข้ามามีบทบาทในด้านข้อมูลข่าวสาร และเปิดกว้างให้ทุกคนกลายเป็น สื่อบุคคลได้โดยง่าย นอกจากนี้การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้บางครั้งไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาด จนเกิดการตื่นตระหนกและอาจเกิดความเสียหายได้ในวงกว้าง

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิดต่อการสื่อสารในยุค 4.0 ระหว่าง กฟผ. และ สื่อมวลชนจังหวัดลำปาง รวมถึงการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงได้มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม  นายนำพล โพธิวงศ์ หัวหน้ากองกลาง ฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ  นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ และนายธนาธิษณ์ ใจโต นักจัดรายการวิทยุ   ณ ห้องประชุมโรงแรม A Star Phulare Valley จ.เชียงราย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1146 วันที่ 15 - 21 กันยายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์