วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

เข้าใจ “ความจริง” ทวนกระแสรักบ้านเก่า

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

ารไหวเคลื่อนของคนลำปางกลุ่มหนึ่ง ที่สำนึกรักบ้านเกิด เสียดาย และไม่ต้องการสูญเสียบางสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจ และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง เช่น บ้านเก่าหลายหลัง นอกเขตพื้นที่ท่ามะโอ  นับเป็นเรื่องเข้าใจได้ และ “ม้าสีหมอก” ก็ชื่นชมความมุ่งมั่น ตั้งใจของพี่น้องคนลำปาง ที่คงไม่ปรารถนาให้ตึกราม อาคารพาณิชย์ ตึกสูงไร้จิตวิญญาณ มาวางตั้งไว้แทนที่บ้านเหล่านั้น

แม้จะเจ็บปวด แม้จะเสียดาย และแม้จะหวั่นใจว่า หากยอมให้สิ่งก่อสร้างแปลกปลอมรุกเข้ามายึดพื้นที่แห่งความภาคภูมิใจ ไม่ช้านาน ลำปางก็อาจกลายเป็นเชียงใหม่ ที่นับวันคุณค่าความเป็นนครหลวงของภาคเหนือ ก็จะลดลง ตามการเติบโตขยายตัวของเมืองสมัยใหม่

แต่เราจะทำอะไรได้มากไปกว่านั้น เมื่อทายาทของเจ้าของบ้านเก่า ซึ่งบางหลังไม่รู้ว่าตกทอดมากี่รุ่นแล้ว เขาต้องการขาย ต้องการจัดการกรรมสิทธิ์ของเขาและมากไปกว่านั้น ก็คือว่า รายละเอียดในชีวิตแต่ละครอบครัว ความจำเป็นของแต่ละครอบครัว ความเห็นพ้องต้องกันของครอบครัว ซึ่งเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” เขาก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลอื่น

ในขณะเดียวกัน ผู้ซื้อซึ่งจะเป็นนายทุนต่างถิ่น หรือคหบดีลำปาง หรือเป็นคนกระเป๋าหนักจากที่ไหนก็ตาม เขาก็มีสิทธิที่จะจัดการที่ดินซึ่งซื้อมาโดยถูกต้องตามกฏหมาย จะสร้างตึกสูง จะสร้างอาคารรูปทรงทันสมัย หรือรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมเอาไว้  ก็เป็นสิทธิของผู้ซื้อเช่นกัน ตราบใดที่เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือเทศบัญญัติใด

เราอาจจะบอกได้ว่า ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อที่ซื้อบ้านเก่า มาเพื่อทำอาคารพาณิชย์ ไม่มีความละเอียดอ่อน ไม่มีความรู้สึกในเชิงอนุรักษ์ที่ต้องหวงแหน บ้านเก่า สิ่งของเก่าๆ ที่อาจเป็นความภาคภูมิใจของคนลำปางส่วนใหญ่ เราวิพากษ์วิจารณ์ได้ เราแสดงออกได้ และเราอาจเรียกร้องให้ผู้ซื้อพิจารณาสร้างอาคารใหม่ ที่ไม่ไปบดบังทัศนียภาพของบ้านหลังเก่า หรือสร้างอาคารใหม่ที่กลมกลืนไปกับบ้านเก่า แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเขาซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

นี่คือความจริง นี่คือสิ่งที่เราไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปได้

เราอาจจะต้องยืนมอง บ้านเก่าที่สร้างเป็นเรือนปั้นหยา ประดับลวดลายฉลุอย่างโบราณ  เช่น บ้านราชวรัยยการ ของอำมาตย์เอกพระยาราชวรัยยการ ต้นตระกูล “กันตะบุตร” ถูกทุบทำลายไปต่อหน้าต่อตา หรือถูกแอบซ่อนไว้ในหมู่อาคารพาณิชย์แข็งกระด้าง และเราอาจต้องซึมเศร้ากับการล้มหายตายจาก ของบ้านเก่าเมืองลำปางไปอีกหลายหลัง ถ้าเราไม่มีกำลังพอ ระดมเงินกันมาให้มากพอ ที่จะซื้อบ้านเหล่านั้นไว้เป็นกรรมสิทธิ์เสียเอง

แน่นอนว่า ไม่มีทางที่เราจะสูญเสียบ้านเก่า ไปเสียทั้งหมด หากบ้านหลังนั้น อยู่ในเขตพื้นที่ทางการ เช่น บ้านที่เคยเป็นสำนักงานของบริษัททำไม้ต่างชาติ หลุยส์ ติ เลียวโนเวนส์ บริเวณบ้านพัก อ..ป.หรือแม้กระทั่งบ้านที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทแบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด ซึ่งก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ปัจจุบัน

บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล สาขาลำปาง สาขาแรกๆของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเป็นผู้จัดการ และยังคงมีร่องรอยข้าวของ เครื่องใช้ ของผู้จัดการแบงก์หลายคน รวมทั้งพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ ณ ที่นั้น หยุดเวลาไว้ที่นั้น ในรูปของพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ลำปาง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมโคโลเนียล ลักษณะเด่นคือมีมุขยื่นด้านหน้ารับด้วยเสาลอยและซุ้มโค้ง พื้นที่ชั้นล่างเคยเป็นที่ทำการธนาคาร ส่วนชั้นบนเป็นที่พักของผู้จัดการสาขา โดยแบ่งพื้นที่เป็นห้องพัก มีผนังเกล็ดไม้โดยรอบเพื่อช่วยในการระบายอากาศและมีระเบียงรอบ อาคารนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นธนาคารแห่งแรกในจังหวัดลำปาง และเป็นธนาคารแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาที่ 3 ในประเทศไทย ต่อจากสาขาทุ่งสงและสาขาเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุใด เราจึงรักษาบ้านหลังนี้ไว้เป็นความภาคภูมิใจของคนลำปางไว้ได้ ก็เพราะบ้านแห่งนี้เป็นของธนาคาร ซึ่งมีความมั่นคงทางการเงิน ประกอบกับความสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้บริหาร อีกกี่สิบปี เราก็แน่ใจได้ว่าบ้านหลังนี้ไม่มีวันหายไปไหน

เราคงต้องยอมรับว่า เรารักและหวงแหนบ้านเก่าได้ แต่เพียงเสียงเรียกร้องให้รักษาไว้ โดยไม่ได้เข้าใจบริบทของสังคม ความจำเป็นของแต่ละครอบครัว สำคัญที่สุดก็คือสิทธิอันชอบธรรมของเจ้าของบ้าน เราก็ทำได้ดีที่สุดเพียงร้องตะโกนจนเสียงแหบแห้ง แต่ไม่มีใครช่วยอะไรได้ 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1144 วันที่ 1 - 7 กันยายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์