วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560

กระหึ่มค้านทุบสะพานหวั่นกระทบชาวบ้านชี้อันตรายนายกฯโต้จำเป็น

จำนวนผู้เข้าชม .


กระแสค้านหนัก ชาวบ้านในชุมชนไม่เห็นด้วยให้ทุบสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี  ลั่นแค่รถจักรยานยนต์ผ่านยังขี่เร็วและอันตราย ไม่ต้องการให้รถยนต์ผ่านได้ เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน  ขณะที่ สท.ฝ่ายค้านติง ของบสร้างทั้งที่แบบแปลนยังไม่เสร็จ แต่สู้เสียงข้างมากไม่ได้   ด้านนายกฯออกโรงแจงสร้างเพื่อการท่องเที่ยวไม่เน้นการคมนาคม

จากกรณีที่เทศบาลนครลำปางได้เสนอโครงการประจำปีงบประมาณ 2561 เข้าสู่สภาเทศบาลนครลำปาง เพื่อพิจารณาเห็นชอบรายจ่ายงบประมาณ เพื่อตราเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561  ซึ่งประเด็นร้อนแรงที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสื่อสังคมออนไลน์ คือ การรื้อสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือสะพานวัดเกาะ ที่ก่อสร้างขึ้นปี 2525 อายุ 35 ปี  เพื่อสร้างสะพานใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม รองรับรถยนต์ผ่านได้ในจุดดังกล่าว  หลังจากนั้นจึงมีกลุ่มคนออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นว่า สะพานยังแข็งแรงดีอยู่  เป็นสะพานที่ผ่านเข้าออกในชุมชน ไม่จำเป็นต้องขยายให้รถยนต์ผ่านได้

นายยงยุทธ เปรมประสิทธิ์  ชาวบ้านชุมชนกาดกองต้าเหนือ มีบ้านพักอาศัยติดกับสะพาน กล่าวว่า  ได้ทราบข่าวจากเฟสบุ๊ก แต่ไม่เคยทราบล่วงหน้า ซึ่งตนไม่เห็นด้วย ถ้าสร้างใหม่จะต้องกินพื้นที่บ้านเรือนเข้ามาอีก การจะระบายรถที่แน่นก็คงแก้ไขไม่ได้ ทุกวันนี้เฉพาะรถจักรยานยนต์ก็ขับขี่เร็วกันอยู่แล้ว  อยากให้หน่วยงานที่มีอำนาจขอความเห็นใจชาวบ้าน เพราะย่านนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกันหมด สะพานแห่งนี้มีอายุประมาณ 35 ปี  มาหลังจากตนเองจะมาอยู่อาศัยเสียอีก

ป้าน้อย ชาวบ้านกาดกองต้าอีกรายหนึ่ง กล่าวเช่นกันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างสะพานใหม่ ให้รถยนต์ผ่าน เพราะทุกวันนี้จะเดินจะเหินข้ามถนนก็ยังลำบาก รถจักรยานยนต์ผ่านเข้าออกขับขี่กันเร็ว ถ้ามีรถยนต์ผ่านก็จะอันตรายมากขึ้น บ้านแถวนี้มีแค่คนสูงอายุและอยู่อาศัยกันมานานมากแล้ว ตอนนี้ตนก็อายุ 66 ปีแล้ว สมัยก่อนเป็นสะพานไม้ แต่ถูกน้ำท่วมเลยพังลง และสร้างขึ้นใหม่เป็นสะพานปัจจุบัน  ซึ่งก็ยังคงสภาพดีอยู่  ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะทุบสะพาน ถ้าจะต้องเวนคืน ย้ายบ้าน จะให้ไปอยู่ที่ไหน ลูกหลานก็เกิดและโตที่นี่กันหมด

นายสมหมาย พงษ์ไพบูลย์  สมาชิกสภาเทศบาล ตัวแทนกลุ่มนครลำปาง กล่าวว่า ตนเห็นว่านายกฯกิตติภูมิเป็นคนมีความคิดดี แต่ในบางเรื่องควรจะนำงบประมาณไปบริหารจัดการงานที่เร่งด่วนหรือสำคัญอย่างอื่น เพราะเท่าที่ดูงบประมาณเกี่ยวกับโครงการประเภทค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ถนนบางแห่งยังมีสภาพดีอยู่ แต่มีการของบประมาณเข้ามาแก้ไข ซึ่งมีชาวบ้านติงมาว่ายังมีถนนอีกหลายจุดที่ชำรุดเสียหาย แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

สำหรับกรณีสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่รู้จักกันในชื่อของสะพานวัดเกาะ เรื่องนี้ทาง สท.บางคนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นงบประมาณที่สูงถึง 17 ล้านบาท  การเสนอโครงการไม่มีแบบแปลนที่สมบูรณ์และชัดเจน เป็นเพียงการประมาณการค่าใช้จ่ายเท่านั้น และคนประมาณการก็ไม่ใช่ช่าง หรือวิศวกร เท่าที่ดูแบบที่นายกฯเสนอมา เป็นสะพาน ค.ส.ล.ความกว้าง 6 เมตร  ยาว 70 เมตร สูงไม่น้อยกว่า 3 เมตร  พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์และไฟส่องสว่าง  ประมาณการไว้ 17 ล้านบาท ตามหลักแล้วการจะนำเรื่องของบประมาณขอสภาฯ จะต้องมีแบบแปลนที่สมบูรณ์ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณา และจะต้องแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีโครงการนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่มาของบก่อน แต่พอถึงเวลาชาวบ้านคัดค้านงบก็ตกไป เสียดายเงินแทนที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้  ซึ่งตนเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะงบประมาณผ่านสภาเทศบาลไปแล้ว  12 ต่อ 8 เสียง ต่อไปนี้ก็คงจะอยู่ที่ชาวบ้านแล้วว่าจะเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่

หลังจากมีกระแสคัดค้านการก่อสร้างสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี  นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง ได้ออกมาชี้แจงเหตุที่จะต้องมีโครงการปรับปรุงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี  โดยให้เหตุผลว่า เน้นพัฒนาให้เป็นสะพานเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวมากกว่าสะพานเพื่อการคมนาคม และจะใช้เป็นสะพานรองรับการสัญจรหากต้องปิดใช้งานสะพานรัษฎาภิเษก

นายกิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวว่า สะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่เดิมแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการทำขัวแตะข้ามระหว่างฝั่งกาดกองต้า ไปฝั่งปงสนุก เพื่อที่จะทำบุญขนทรายเข้าวัดที่วัดปงสนุก หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ.2525 มีการเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 200 ปีก็เลยสร้างสะพานนี้มาแทนขัวแตะเดิม เป็นต้นมา สำหรับแนวคิดในการก่อสร้างสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีเหตุผลประการแรก คือ ในปัจจุบันสะพานแห่งนี้เริ่มชำรุดทรุดกลาง พร้อมที่จะพังได้ทุกเมื่อ  ประการที่สองในช่วงน้ำหลากมักจะมีกิ่งไม้ ใบไม้ ผักตบชวา มาติดบริเวณตอม่อสะพานทำให้การไหลเวียนของน้ำไม่สะดวก  ประการที่สามในวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมถนนคนเดินกาดกองต้า มักมีปัญหาเรื่องที่จอดรถ สะพานนี้จะเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกาดกองต้าและชุมชนปงสนุก สามารถขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมและสถานที่จอดรถมายังชุมชนปงสนุกได้ ประการที่สี่ แต่เดิมประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน จะจัดขึ้นบริเวณหลังจวนผู้ว่าฯ  แต่พอมีสะพานฯ ก็ไม่สามารถปล่อยขบวนสะเปาได้ จึงต้องย้ายไปจัดที่เขื่อนยาง และโรงพยาบาลแวนแซนวูดส์ในปัจจุบัน จึงต้องการยกสะพานให้สูงขึ้นและรื้อฟื้นวิถีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา  และประการสุดท้ายคือ เป็นการเตรียมการรองรับปัญหาในอนาคตซึ่งอาจจะมีการบูรณะซ่อมแซมสะพานรัษฏาฯ สะพานแห่งนี้จะสามารถรองรับปัญหาการจราจรได้ 

นายกเทศมนตรี กล่าวต่อไปว่า  รูปแบบในการสร้างอยู่ระหว่างการดำเนินการออกแบบอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยวิศวกรที่ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพโดยรอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ หรือถ้าจะเกิดก็ให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเน้นในเรื่องการปรับปรุงสะพานให้มีความสูงเพิ่มขึ้น กว้างขึ้น ปลอดภัย  และสวยงามขึ้น  ยืนยันไม่ใช่แบบแปลนสำหรับการคมนาคม แต่เน้นให้เป็นสะพานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อันเป็นการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สองฝั่งแม่น้ำวัง (ฝั่งปงสนุก กับกาดกองต้า) ในส่วนของเอกสารต่าง ๆ ตอนนี้ใกล้สมบูรณ์แล้ว และหลังจากนี้เอกสารแบบแปลนต่าง ๆ พร้อมแล้ว เทศบาลจะทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ตามขั้นตอน  เพราะเป็นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีของคนในพื้นที่  

“งบประมาณที่ผ่านสภาเทศบาลนครลำปาง 17 ล้าน เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ดำเนินการในปี 2561 ซึ่งยังไม่ได้มีการรื้อสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่อย่างใด  ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบสะพานใหม่ เบื้องต้นการออกแบบสะพานจะรองรับรถยนต์ได้ เพื่ออาจจะใช้เป็นทางรถวิ่งทางเดียว หากจะต้องปิดปรับปรุงสะพานรัษฎา สะพานเก่าแก่อายุ 100 ปีของ จ.ลำปาง  แต่คงไม่ได้สร้างให้รถวิ่งสวนกันได้ เพราะทางเข้าออกเป็นย่านชุมชนและเป็นถนนแคบ  หากออกแบบเสร็จแล้วก็จะมีการนัดประชุมประชาพิจารณ์ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะชุมชนกาดกองต้า และชุมชนปงสนุก ที่อยู่ทั้งสองฝากฝั่งสะพาน  ส่วนประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ โดยการมาลงชื่อเข้าประชุม เพราะสะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่ทุกคนใช้ร่วมกัน”  นายกิตติภูมิ กล่าว

 ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวได้มีตัวแทนชาวบ้านจาก 2 ชุมชน คือชุมชนกาดกองต้า และชุมชนปงสนุก พร้อมตัวแทนสมาชิกสภาเทศบาลนครเข้าร่วมรับฟัง  ซึ่งชาวบ้านต่างกล่าวยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยทราบเรื่องว่าเทศบาลจะปรับปรุงสะพานมาก่อน มาทราบต่อเมื่องบประมาณผ่านสภาเทศบาลแล้ว เหตุใดจึงไม่มีการสอบถามชาวบ้านก่อน แต่นายกิตติภูมิ ได้พูดตัดบทว่า ในวันนี้เป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนขอตอบคำถามสื่อมวลชนก่อน  เมื่อสอบถามเรื่องรับฟังความเห็นของชาวบ้าน นายกิตติภูมิ กล่าวว่า สุดท้ายนี้หากมีการประชาพิจารณ์แล้ว เสียงข้างมากออกมาเป็นอย่างไรก็จะดำเนินการตามนั้น ถ้าประชาชนไม่เอาก็ยุติโครงการไป  แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1145 วันที่ 8 - 14 กันยายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์