วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หนอนตัวแบนนิวกินี เอเลียนสปีชีส์ที่กำลังมาแรง

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr
           
ช่วงนี้ไม่มีอะไรร้อนแรงเท่าการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีที่ถูกระบุเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นเลวร้ายระดับ 1 ใน 100 ของโลกในประเทศไทยอีกแล้ว กลบกระแสชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์เดิม ๆ อย่างนกพิราบ ปลาซักเกอร์ หอยเชอรี ผักตบชวา หรือแม้แต่ปลาหมอคางดำเสียสนิท

ถึงแม้จังหวัดลำปางเราจะยังไม่มีรายงานการค้นพบ แต่จังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่ก็ถูกระบุว่ามีการพบหนอนชนิดนี้ไปเรียบร้อย

หนอนตัวแบนนิวกินีมีถิ่นกำเนิดบนเกาะนิวกินี พื้นที่ที่พบครั้งแรกอยู่ในจังหวัดปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มมันวาว ยาว 5-6 เซนติเมตร ส่วนหัวและท้ายแหลม แต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า มีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็ก  ๆ ค่อนไปทางด้านหาง ซึ่งเป็นส่วนปาก หนอนชนิดนี้กินหอยทากเป็นอาหารหลัก แต่ถ้าไม่สามารถหาหอยทากกินได้ มันจะกินทากเปลือยและไส้เดือนด้วย โดยมันจะหากินกลางคืน และตามล่าหอยทากด้วยการตามกลิ่นเมือกไป

หนอนตัวแบนนิวกินีมีรายงานถูกปล่อยและหลุดออกสู่ธรรมชาตินอกถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหลายแห่ง และมีรายงานรุกรานกินหอยทากท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้หนอนตัวแบนนิวกินีเป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก ทั้งนี้ มันได้ก่อปัญหาให้ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งตั้งใจปล่อยมันเพื่อให้กำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา (สัตว์ต่างถิ่น) ที่เป็นศัตรูพืช แต่ปรากฏว่า มันไม่ได้ล่าแต่เฉพาะหอยทากยักษ์แอฟริกา แต่กลับไล่ล่าหอยทากเฉพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ไปจำนวนมาก นั่นเพราะหนอนตัวแบนนิวกินีเมื่ออยู่นอกถิ่นอาศัยจะขาดการควบคุมจำนวนประชากร เนื่องจากไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติจนเพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น หนอนชนิดดังกล่าวยังรุกรานไปถึงประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

สำหรับรายงานการพบในประเทศไทยครั้งแรก เริ่มจากมีผู้โพสต์ภาพหนอนชนิดหนึ่งกำลังกินหอยทากบริเวณบ้านแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เพื่อถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด ซึ่งยิ่งยศ ลาภวงศ์ ผู้ศึกษาด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในเรื่องดังกล่าว ณ University of Technology Sydney ประเทศออสเตรเลีย ได้ระบุว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี ต่อมาทางกลุ่มสยามเอ็นสิส นำโดยผู้ก่อตั้งกลุ่ม คือ ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ตามไปเก็บตัวอย่างที่บ้านหลังดังกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินีจริง

หนอนตัวแบนนิวกินีนอกจากจะเป็นภัยต่อหอยทากท้องถิ่นของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นพาหะของพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้ ทั้งนี้ การกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ใช้น้ำร้อนลวก หรือหยอดด้วยเกลือป่น ห้ามใช้การสับ หรือหั่น เพราะแต่ละชิ้นส่วนของหนอนจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้

ใครจะซื้อต้นไม้เข้าบ้านควรตรวจดูให้ดี ทั้งตามลำต้นและกระถางว่าไม่มีเจ้าหนอนชนิดนี้ติดมาด้วย แต่หากใครพบขอให้รายงานไปที่กลุ่มสยามเอ็นสิส ผ่านทางเฟซบุกกลุ่มที่ siamensis.org เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการต่อไป

ทว่าเรื่องยังไม่จบแค่นั้น หนอนตัวแบนนิวกินียังสร้างความปั่นป่วนและตื่นตระหนกไปทั่ว มันทำให้สัตว์ท้องถิ่นที่ไม่อันตรายถูกเข้าใจผิด หลายคน ซึ่งยังไม่ชำนาญพอจะแยกแยะชนิดของหนอน ต่างพากันสาดน้ำร้อน โรยเกลือใส่หนอนชนิดผิดฝาผิดตัว หนอนท้องถิ่นอย่างพวกกลุ่มหนอนริบบ้อน หนอนหัวขวาน กลุ่มทากเปลือย หรือแม้แต่เขียดงู จึงพากันรับเคราะห์แทน เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลไม่น้อย

ด้านนักวิชาการก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันในบางประเด็น โดย ดร. นณณ์จากกลุ่มสยามเอ็นสิสมีความเห็นว่า ควรเร่งกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีก่อนที่พวกมันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของเมืองไทย ทว่ายิ่งยศกลับคิดต่างออกไป เขาระบุไว้ในเฟซบุก Yingyod Lapwong ว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นไม่จำเป็นต้องเป็นชนิดพันธุ์รุกราน การที่สิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นจะกลายมาเป็นชนิดพันธุ์รุกรานนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในบัดดล จริง ๆ แล้ว การรุกรานเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอน 4 ขั้นตอน คล้ายการฝ่าด่านเมื่อเราเล่นเกม ถ้ามันไม่สามารถผ่านแต่ละด่านมาจนถึงด่านสุดท้าย มันก็จะไม่ถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเขาจึงออกมาโพสต์ถึงเหตุผลที่เราไม่ควรกำจัดสัตว์เอเลียนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ก็เพราะยิ่งยศเชื่อว่า พวกมันไม่ได้สร้างผลกระทบด้านลบให้กับบ้านใหม่เสมอไป มีงานวิจัยพบว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจำนวนมากสร้างผลกระทบในด้านบวกให้กับระบบนิเวศใหม่ด้วยซ้ำ

เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างนักวิชาการ ซึ่งชาวบ้านอย่างเราอ่านข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายแล้วก็พลอยได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากโขเลยทีเดียว ดีเหมือนกัน แต่ระหว่างรอท่าทีที่ชัดเจนต่อเจ้าหนอนเจ้าปัญหา เรามาฝึกจำแนกความแตกต่างระหว่างหนอนตัวแบนนิวกินีกับหนอนในท้องถิ่นออกจากกันให้แม่นไปพลาง ๆ ก่อน (ดูได้ที่ siamensis.org) จะได้ไม่เทน้ำร้อน สาดเกลือใส่หนอนท้องถิ่นให้รับเคราะห์แทนอย่างน่าสงสาร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1155 วันที่ 17 - 23 พฤศจิกายน 2560)            
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์