วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ้าย้อมครามสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่

จำนวนผู้เข้าชม .

“ไทพวน” เป็นชื่อเรียกชาวเมืองพวนเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศลาว คำว่า “ไท, ไต, ไทย” หมายถึง “คน” หรือ “ชาว” คำว่า “พวน , พูน, โพน” หมายถึง บริเวณที่สูง หรือที่ราบสูง เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ภายในอาณาเขตประเทศไทยถูกเรียกว่า “ลาวพวน” เพื่อบ่งบอกว่ามาจากลาว ภายหลังมีการเขียนว่า “ไทยพวน” เพื่อแสดงถึงความเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

เมื่อปี 2527 ชมรมไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบค้นประวัติความเป็นมาและอนุรักษ์ความเป็นไทพวนเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ และหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สำคัญคือการทอผ้า

กลุ่มทอผ้าไทยพวนและต้นครามหม้อห้อมธรรมชาติมีลักษณะการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการมากว่า 10 ปี มุ่งเน้นในการจัดศูนย์การเรียนรู้ด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการย้อมสีธรรมชาติเป็นหลัก โดยนางยุพิน  สายสำเภา ประธานกลุ่มทอผ้าไทยพวนได้อธิบายว่าว่า การทำผ้าย้อมครามสีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษไทพวนที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน โดยผู้สูงอายุจะมีทักษะในการย้อมผ้าสีธรรมชาติจากใบคราม โดยเฉพาะ “ซิ่นแล้” ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวน

ขณะที่กลุ่มทอผ้าไทยพวนและต้นครามหม้อห้อมธรรมชาติ มีความสามารถและมีศักยภาพในการผลิตสินค้าหัตถกรรมผ้าย้อมครามสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ความต้องการในการพัฒนาของกลุ่มทอผ้าไทยพวนนั้น ยังต้องการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถถ่ายทอดวิธีคิดหรือแนวคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าย้อมครามสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ด้านการผลิคสื่อและการประชาสัมพันธ์ที่ต้องใช้ระบบสารสนเทศ (E-Commerce) ในการขยายช่องทางการตลาด และต้องการความรู้ด้านแผนการตลาดที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งมีคุณค่าให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ้าย้อมครามสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่” ภายใต้โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายวิจัยภาคเหนือตอนบนได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลของกลุ่มทอผ้าไทยพวนในการพัฒนาสินค้าและบริการของกลุ่ม โดยวิเคราะห์ศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้นและได้ทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ กระบวนการขั้นตอนในการดำเนินโครงการ รายละเอียดกิจกรรม และคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการพัฒนากลุ่ม มีความต้องการ มีความสมัครใจ และให้ความร่วมมือกันในการทำกิจกรรมจนโครงการสำเร็จเพื่อให้สินค้าหรือบริการนั้นเป็น High Value Service ได้ โดยมุ่งหวังที่จะใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น สื่อวีดิทัศน์ภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการทอผ้า เพื่อช่วยในการช่วยขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดวิธีคิดหรือแนวคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ การจัดจำหน่ายสินค้า และการพัฒนาด้านแผนการตลาด รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลายหลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดการรับรู้ ทบทวน สร้างองค์ความรู้ และมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับการวิจัยในครั้งนี้เกิดจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ (Improvements in Revision of Existing Product) ในเรื่องลักษณะและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยนำเทคนิคการทอแบบใหม่มาใช้ ซึ่งทำให้ผ้ามีขนาดหน้ากว้างเพิ่มมากขึ้นและมีการสร้างลายให้กับผ้าย้อมครามสีธรรมชาติของกลุ่มไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง จ.แพร่ ได้เกิดผลิตภัณฑ์ บริการหรือนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างสรรค์จากคุณลักษณะทั่วไปและจุดแข็งในการเป็นผ้าธรรมชาติ โดยใช้จุดเด่นของงานฝีมือแบบ Handcraft ที่ให้ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะมีความคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกัน สร้างคุณค่าให้แก่ผู้ที่ครอบครอง

ความแปลกใหม่จากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สามารถถ่ายทอดวิธีคิดหรือแนวคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าย้อมครามสีธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น มีการนำเทคโนโลยีด้านการผลิตสื่อและการประชาสัมพันธ์ที่ต้องใช้ระบบสารสนเทศ  (E-Commerce) รวมทั้ง Digital Marketing และSocial Media อื่นๆ เข้ามาสนับสนุนในงาน เช่น Line Lazada Facebook ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและชยายช่องทางการตลาด


ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับผู้รับการฝึกอบรมท างโครงการฯ ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการอบรม จำนวน 4 กิจกรรม ได้แก่

กิจกรรมการจัดอบรมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลักสูตรการทอผ้ากี่ 100 นิ้ว ณ โรงทอผ้ากลุ่มไทยพวน ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2561 โดยวิทยากร ได้แก่ คุณประสิทธิ์ อ่อนคง จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1

กิจกรรมการอบรมหลักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 9–11 มีนาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดในยุคดิจิทัล การเขียนแผนการตลาด การสร้างแบรนด์และการสื่อสารแบรนด์ โดยวิทยากร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

3. กิจกรรมการอบรมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยระบบสารสนเทศ (E-Commerce) ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 11 และ 16-17 มีนาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยระบบสารสนเทศ (E-Commerce) โดยวิทยากร ได้แก่ คุณฐานุเศรษฐ โชคพิริยวัชร์ นักการตลาด และเจ้าของบริษัท NT Medscience Co., Ltd. Khonkaen, Thailand.

กิจกรรมการอบรมการทำสื่อ (How to) และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ ณ โรงแรมแพร่นครา และกลุ่มทอผ้าไทยพวนทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 18 และ 2325 มีนาคม 2551 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการทำสื่อ (How to) และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ โดยวิทยากร ได้แก่ อาจารย์ปณต สุสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาบรอดแคสต์ติ้ง และวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอาจารย์ยิ่งพงศ์  มั่นทรัพย์ กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญ พันตา ครีเอชั่น และที่ปรึกษากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ดร.รชพรรณ  ฆารพันธ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ทางโครงการมุ่งหวังที่จะใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการช่วยขยายช่องทางการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดวิธีคิดหรือแนวคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ การจัดจำหน่ายสินค้า และการพัฒนาด้านแผนการตลาด รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลายหลายมากยิ่งขึ้น โดยคาดหวังว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ และช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับทางกลุ่มทอผ้าไทยพวนและต้นครามหม้อห้อมธรรมชาติและผู้เข้าอบรม ได้รับความรู้ แนวคิด เทคนิค วิธีการต่างๆ เพื่อนำไปวางแผน ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1172 วันที่ 23 - 29 มีนาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์