วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

Low-waste Lifestyle เทรนด์ใหม่ก่อนขยะจะล้นโลก

จำนวนผู้เข้าชม .

นอกจากการใช้ชีวิตแบบ Slow Life ที่เอาแต่เก๋ไปวัน ๆ วันนี้เรามีเทรนด์ใหม่ในการใช้ชีวิตมานำเสนอ นั่นคือ การใช้ชีวิตแบบไม่มีขยะ (Low-waste Lifestyle) ที่ไม่เพียงแค่เก๋ แต่ยังชาญฉลาดและดีต่อโลก

กรุงเทพฯ เริ่มมีร้านค้าในรูปแบบ Zero-waste Shop อย่าง Refill Station ซึ่งเป็นร้านค้าในแนวที่ต่างประเทศเรียกว่า Bulk Store (ร้านค้าแบบเติม) สำหรับร้าน Refill Station นี้ เป็นของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบไม่มีขยะ ภายในร้านจะนำขวดปั๊มขนาดใหญ่ใส่พวกสบู่ ยาสระผม โลชั่น มาตั้งไว้ให้คนปั๊มลงขวดรีไซเคิลของตัวเอง แล้วชั่งน้ำหนักซื้อไปในราคามิตรภาพ โดยเป็นสินค้าจากแบรนด์พาร์ตเนอร์ ที่มีทั้งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก หรือทำจากสมุนไพร ซึ่งเราสามารถเอาไปทดลองใช้ก่อนได้ โดยกดปั๊มตามปริมาณที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีชา ขนมขบเคี้ยว และไอเท็มรักโลกอย่างหลอดสแตนเลส แชมพูก้อน แปรงสีฟันข่อย หรือด้ามแปรงไม้ไผ่ แม้กระทั่งผ้าอนามัย

พลาสติกอีกรูปแบบหนึ่งที่สังคมไทยกำลังพูดถึงและกำลังผลักดันให้มีการเลิกใช้ นั่นคือพลาสติกหุ้มฝาขวด ที่กลายสภาพเป็นเศษขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยในทันทีที่เราเปิดขวดน้ำดื่ม และด้วยขนาดที่เล็กและน้ำหนักเบา มันจึงถูกทิ้งลงพื้นอย่างเรี่ยราดมากกว่าทิ้งลงในถังขยะ พลาสติกหุ้มฝาขวดเหล่านี้ คือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาท่อระบายน้ำตัน น้ำท่วมขัง โดยแต่ละปี ประเทศไทยผลิตขวดน้ำพลาสติกปีละ 4,400,000,000 ขวด ในจำนวนนี้มีน้ำดื่ม 60 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,600,000,000 ขวด ที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด

มีผู้เปรียบเทียบอย่างเห็นภาพว่า ถ้านำพลาสติกหุ้มฝาขวดเหล่านี้มาเรียงต่อกัน มันจะยาวถึง 260,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถพันรอบโลกได้ 6.5 รอบ

อย่างไรก็ตาม นับว่าน่ายินดีที่ 5 บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มยักษ์ใหญ่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดโดยจะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนนี้ ได้แก่ 1. บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มคริสตัล 2. บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ 3. บริษัทไทย ดริ้งค์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มช้าง 4. บริษัทคาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำดื่มคาราบาว 5. บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มสิงห์

ขยะพลาสติกนอกจากเราจะรับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่ามันก่อให้เกิดปัญหาโน่นนี่ แต่ลึกลงไปกว่านั้น ปัจจุบันมีการพบว่า ไมโครพลาสติกและเส้นใยพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากนั้น มันสามารถแทรกซึมปนเปื้อนในธรรมชาติได้ง่าย ตั้งแต่ถูกผลิตขึ้นมา  พลาสติกไม่มีทางหายไปไหน มันสามารถแตกย่อยเป็นส่วนเล็ก ๆ จนย่อยต่อไปไม่ได้ แล้ววนเวียนเข้ามาในห่วงโซ่อาหารของเราอย่างเงียบ ๆ

ใคร ๆ ก็อยากสบาย แต่ปัญหาขยะพลาสติกนั้นกำลังรอการแก้ไขอย่างจริงจัง  อย่าให้ความคิดที่ว่า “ขี้เกียจแบก” หรือ “แค่นี้ไม่ช่วยอะไรหรอก” มาบั่นทอนกำลังใจในการถือกระติกน้ำออกจากบ้าน เตรียมกล่องใส่อาหาร ปฏิเสธหลอด ถุง และช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ

ทุกวันนี้ในเมืองลำปางของเราเริ่มเห็นคนใช้แก้วเก็บความเย็นมาซื้อเครื่องดื่มตามร้านกาแฟกันมากขึ้น (ก็ตั้งแต่แก้วไซซ์ใหญ่ยี่ห้อสัตว์ประหลาดแถบเทือกเขาหิมาลัยราคาถูกลงนั่นแหละ) ไปตลาดเห็นคนถือถุงผ้ากับตะกร้ากันมากขึ้น

นักอนุรักษ์อาจคาดหวังเกินไปที่จะได้เห็นคนทุกคนหันมาลดละเลิกใช้พลาสติก แต่เราว่า นี่ไม่ใช่เรื่องฟุ้งฝันของคนคนเดียว สักวันหนึ่งพลังเล็ก ๆ จะเปลี่ยนโลกได้ เชื่อเถอะ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1173 วันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์