วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561

โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ้าย้อมครามสีธรรมชาติ ของกลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่

จำนวนผู้เข้าชม Home Remedies For Wrinkles

การวิจัย เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ้าย้อมครามสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่” ภายใต้โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายวิจัยภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีการจัดอบรม 4 กิจกรรม ดังนี้

1.    กิจกรรมการจัดอบรมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลักสูตรการทอผ้ากี่ 100 นิ้ว ณ โรงทอผ้ากลุ่มไทยพวน ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 2-8 มีนาคม 2561 โดย คุณประสิทธิ์ อ่อนคง จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นวิทยากร ได้แสดงความคิดเห็นว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ และมีการจัดกิจกรรมในหลายส่วนต่อเนื่อง โดยได้นำความรู้เรื่องหลักสูตรการทอผ้ากี่ 100 นิ้ว ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์กี่ทอผ้าจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 มาสอนให้กับทางกลุ่ม เพราะเล็งเห็นว่าทางกลุ่มมีศักยภาพและมีความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนำเทคนิคการทอแบบใหม่มาใช้ ซึ่งทำให้ผ้ามีขนาดหน้ากว้างเพิ่มมากขึ้นและมีการสร้างลายให้กับผ้าย้อมครามสีธรรมชาติ และได้เสนอแนะว่าควรมีการขยายระยะเวลาในการอบรมให้มากขึ้นเพราะในการสอนแต่ละขั้นตอนนั้นต้องใช้ระยะเวลามากและต้องคอยแนะนำแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนระหว่างการทอด้วย

2.    กิจกรรมการอบรมหลักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 9–11 มีนาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดในยุคดิจิทัล การเขียนแผนการตลาด การสร้างแบรนด์และการสื่อสารแบรนด์ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาเป็นวิทยากร มีความคิดเห็นว่า เป็นโครงการที่มีการจัดกิจกรรมได้อย่างครบวงจร สิ่งที่เป็นจุดเด่นของโครงการ และการมีผู้เข้าอบรมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมและมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งผู้จัดโครงการตั้งแต่หัวหน้าโครงการ ทีมงานทุกท่านมีความเต็มที่กับการทำงานอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งได้เสนอแนะว่าควรจะมีโครงการที่ต่อเนื่องเพื่อที่จะมีการติดตามผลลัพธ์ในด้านพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ ความเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าร่วมโครงการ และควรเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ของท้องถิ่นได้เข้าร่วมโครงการ และควรจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนอย่างจริงจังจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ที่มีการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งจะสะท้อนความเป็น แบรนด์ของจังหวัดและจะต่อยอดไปสู่ความเจริญในด้านการท่องเที่ยวต่อไป


3.    กิจกรรมการอบรมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยระบบสารสนเทศ (E-Commerce) ณ โรงแรมแพร่นครา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 11 และ 16-17 มีนาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยระบบสารสนเทศ (E-Commerce) โดยวิทยากร ได้แก่ คุณฐานุเศรษฐ โชคพิริยวัชร์ นักการตลาด และเจ้าของบริษัท NT Medscience Co., Ltd. Khonkaen, Thailand. ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมอบรมว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้เข้าร่วมอบรม โดยมีเนื้อหาที่ตรงตามความต้องการ สามารถเติมเต็มทักษะที่ผู้เข้าอบรมต้องการจริง ตอบโจทย์ในการพัฒนากิจการของตน ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของธุรกิจ หรือวิสาหกิจชุมชน ให้มีศักยภาพเทียบเท่าองค์กรใหญ่ที่ต้องใช้บุคลากรหลายคน แต่เมื่ออบรมในโครงการนี้แล้ว ผู้เข้าอบรมสามารถมองเห็นภาพรวมของกิจการตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองให้เป็น one person whole services ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่ากิจกรรมนี้ต้องการความต่อเนื่องในการอบรม 

4.    กิจกรรมการอบรมการทำสื่อ (How to) และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ ณ โรงแรมแพร่นครา และกลุ่มทอผ้าไทยพวนทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ระหว่างวันที่ 18 และ 2325 มีนาคม 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการทำสื่อ (How to) และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ โดยวิทยากร ได้แก่ อาจารย์ปณต สุสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาบรอดแคสต์ติ้ง และวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอาจารย์ยิ่งพงศ์  มั่นทรัพย์ กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญ พันตา ครีเอชั่น และที่ปรึกษากรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทั้งนี้วิทยากรทั้งสองท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมอบรมว่า ความรู้ที่นำมาถ่ายทอดครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสื่อ (How to) และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ โดยมุ่งเน้นเนื้อหาด้านการสร้าง Content การนำเสนอแนวคิดในการเล่าเรื่องให้มีความน่าสนใจ (Storytelling) ทั้งในส่วนการถ่ายภาพนิ่ง และการทำคลิปวีดีโอ รวมทั้งเทคนิคการแต่งภาพ เทคนิคการตัดต่อ และข้อควรระวังเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โดยให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติการสร้างเรื่องราว การเขียนเล่าเรื่อง การถ่ายภาพนิ่ง การทำคลิปวีดีโอ และการตัดต่อ ซึ่งเนื้อหาสำหรับการอบรมในกิจกรรมนี้ วิทยากรมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะ ด้านการผลิตสื่อ มีความกล้าคิด กล้าทำ เพื่อนำกลับไปใช้สร้างเรื่องราวในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการ ซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ได้

ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการฯ ดังนี้

นางยุพิน สายสำเภา ประธานกลุ่มทอผ้าไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง กล่าวว่า ขอขอบคุณทางโครงการฯ ที่เห็นความสำคัญของกลุ่มเราในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่น เกี่ยวกับการทอผ้าย้อมครามสีธรรมชาติ

นางสาวภาณุมาศ สายสำเภา ผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มทอผ้าไทยพวนทุ่งโฮ้ง และเจ้าของแบรนด์ต้นครามหม้อห้อมธรรมชาติ กล่าวว่า โครงการดีเยี่ยม ช่วยให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ สร้างเอกลักษณ์ ช่วยให้รู้ถึงแนวทางของการทำตลาดในยุค 4.0 และทำให้รู้จักถึงช่องทางการตลาดที่มีมากมายในยุคปัจจุบัน ซึ่งสามารถเลือกช่องทางเหล่านั้นให้เหมาะสมกับกิจการของตนเองได้

นางสาวนันทนิจ บอยด์ ผู้เข้ารับการอบรม เจ้าของแบรนด์ Natcheral กล่าวว่า โครงการนี้ให้ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง มีการให้ลองปฏิบัติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่ดีเพื่อให้เกิดจากจดจำมากยิ่งขึ้น เนื้อหาการบรรยายเข้าใจได้ง่ายและไม่เป็นวิชาการมากจนเกินไป และมีความมั่นใจว่าสามารถนำบทเรียนที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

นายชาคริต เสนาธรรม ผู้เข้ารับการอบรม และกำลังเริ่มพัฒนาแบรนด์ของตนเอง กล่าวว่า โครงการเป็นประโยชน์มาก ความรู้แน่นมากๆ ทั้งที่ถ้าจัดเป็นคอร์สการสอนหรืออบรมหลายหลักสูตรต้องมีราคาที่สูงมาก
นายปิยะศักดิ์ ศรีบุญ ผู้เข้าร่วมอบรม และเจ้าของแบรนด์ Blue Factory กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดี ช่วยเปิดโลกความรู้ใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการหรือทายาททางธุรกิจเพื่อจะนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ในเรื่องของการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างคุณค่าให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อส่งเสริมการขายในช่องทางการขายออนไลน์

ขณะที่ ดร.รชพรรณ ฆารพันธ์ นักวิจัยศูนย์เรียนรู้ชาติพันธุ์ไทในล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมการอบรมทั้ง 4 กิจกรรม มีผู้สนใจและผู้ประกอบการอื่นๆ ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงนอกจากกลุ่มเป้าหมายที่ทางโครงการกำหนดไว้ ได้เข้าร่วมการอบรมในแต่ละกิจกรรมด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมการอบรมมีความตั้งใจและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนเนื้อหาความรู้ และการลงมือฝึกปฏิบัติ ถึงแม้ในบางกิจกรรมไม่สามารถเข้าร่วมการอบรมได้ เนื่องจากติดภารกิจ ทั้งนี้ ขอขอบคุณวิทยากรและคณะทำงานทุกท่านที่เสียสละเวลามาร่วมถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาศักยภาพให้กับทางกลุ่มทอผ้าไทยพวนและต้นครามหม้อห้อมธรรมชาติ รวมทั้งผู้เข้าร่วมการอบรมทุกท่าน ให้ได้รับความรู้ แนวคิด เทคนิค วิธีการต่างๆ เพื่อนำไปวางแผน ปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ของทางโครงการได้ทาง เพจเฟสบุ๊ค โดยพิมพ์ชื่อ โครงการ P O D

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1174 วันที่ 6 - 19 เมษายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์