วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

ปูรณฆฏะ หม้อดอกที่แสนชดช้อยน่าชม

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

เมื่อเพื่อนต้องพาญาติ ๆ จากกรุงเทพฯ เที่ยวชมวัดในเมืองลำปาง และต้องเป็นวัดเล็ก ทว่าซ่อนเร้นความงามไว้อย่างน่าตื่นตะลึง เธอเอ่ยถึงวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร ซึ่งเราก็เห็นด้วย ก่อนสำทับไปว่า อย่าลืมเข้าไปในวิหารจามเทวี แล้วชี้ชวนให้ดูตรงฝาย้อยด้านบนด้วยล่ะ

เพื่อนสาวกลับมาด้วยความปลื้ม ที่ญาติ ๆ ประทับใจวิหารจามเทวี แล้วยิ่งเมื่อแหงนมองในส่วนของฝาย้อยด้านบนก็ต้องร้อง “ว้าว” นี่คือ Lampang’ s Hidden Gems แท้ ๆ

เพราะในส่วนของฝาย้อยที่ลักษณะเป็นฝากรอบไม้แบบลูกฟัก ช่วงบนมี “ลวดลายหม้อปูรณฆฏะ” ฝีมือช่างชั้นสูง ที่ประดิษฐ์ลวดลายแตกต่างไม่ซ้ำกันได้อย่างลงตัว มีความพลิ้วไหว ละเอียดอ่อน ประณีต มีระเบียบ รักษาช่องไฟได้อย่างสม่ำเสมอ งดงามยิ่งนัก

นักโบราณคดีจัดลวดลายปูรณฆฏะอยู่ในกลุ่มลวดลายประเภทพรรณพฤกษา เช่นเดียวกับลวดลายโพธิพฤกษ์และลวดลายเครือเถาและดอกไม้-ใบไม้ ซึ่งลวดลายประเภทพรรณพฤกษานี้ นิยมใช้อย่างมากในงานศิลปะสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เพราะเป็นลวดลายที่สามารถนำไปบรรจุ หรือประกอบกับลวดลายอื่น ๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ นักโบราณคดียังตั้งข้อสังเกตถึงความนิยมในการใช้ลวดลายพรรณพฤกษา ที่จะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-23 โดยมีการประดับภาพโพธิพฤกษ์และภาพเทวดาในวิหารต่าง ๆ ในดินแดนล้านนา เพื่อเป็นการแสดงความหมายในเรื่องการตรัสรู้และเฉลิมฉลองการชนะพญามารของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ปูรณฆฏะ  ปูรณะกลศ บางครั้งก็เรียกว่า อมฤตฆฏะ หรือภัทรฆฏะ เป็นลวดลายรูปหม้อน้ำบรรจุกอบัวทั้งก้านใบและดอกบัว หรือบรรจุพรรณพฤกษาที่เรียกว่า กัลปลตา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้เป็นเจ้าของประสบผลสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนาและช่วยบันดาลทรัพย์สมบัติทั้งปวง

ลวดลายปูรณฆฏะเป็นลายโบราณที่มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย แล้วคงแพร่หลายเข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ฝ่ายสีหล ในประเทศไทยพบลายหม้อปูรณฆฏะตั้งแต่สมัยทวารวดี สำหรับในดินแดนล้านนา ลวดลายหม้อปูรณฆฏะปรากฏครั้งแรกเป็นงานลายคำประดับอยู่ภายในวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และพัฒนาอย่างงดงามในพุทธศตวรรษที่ 23 ที่วิหารวัดปงยางคก

ในภาษาถิ่นล้านนามักเรียกลวดลายปูรณฆฏะว่า ลายหม้อดอก ซึ่งชาวบ้านนิยมจัดหม้อดอกไม้บูชาพระพุทธรูป โดยจัดไว้ตรงหิ้งพระตามบ้านเรือน แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นแจกันใส่ดอกไม้บูชาแทน แต่ก็ยังเรียกกันว่า หม้อดอกอยู่นั่นเอง

ลวดลายปูรณฆฏะยังมีให้ชื่นชมที่ผนังด้านหน้าบริเวณระเบียงของวิหารพระพุทธ วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ลวดลายที่วิหารพระพุทธนี้พิเศษ ตรงที่มีรูปหงส์วิ่งประกอบทางด้านล่างด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1176 วันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์