วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ตำนานวัดม่อนปู่ยักษ์

จำนวนผู้เข้าชม .

ลำปางได้ชื่อว่ามีวัดศิลปะพม่ามากที่สุดในประเทศไทย นับเนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองลำปางอันอุดมไปด้วยไม้สักจำนวนมหาศาล เป็นที่หมายปองของบริษัทค้าไม้ต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมดินแดนต่างๆรอบๆสยามประเทศอยู่ในขณะนั้น ได้เข้ามาขอสัมปทานค้าไม้จากราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ เข้าทำอุตสาหกรรมไม้ในเขตเมืองลำปาง ในครั้งนั้นบริษัทค้าไม้ขนาดใหญ่สัญชาติอังกฤษได้สัมปทานไป จึงเข้ามาพร้อมแรงงานชาวพม่าที่ซึ่งอยู่ในการคุมครองของนายจ้างชาวอังกฤษซึ่งชำนาญในการทำไม้การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าไม้ของชาวพม่า ทำให้มีโอกาสสะสมทุนและกลายเป็นคหบดีที่ร่ำรวย ด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาอันแรงกล้า จึงสร้างวัดขึ้นในถิ่นที่ตนเองทำธุรกิจจุดเด่นของวัดพม่าที่เห็นชัดคือ สร้างด้วยไม้และแกะสลักอย่างละเอียดยิบ “วัดม่อนปู่ยักษ์” หนึ่งในวัดพม่าที่คนลำปางอาจไม่เคยรู้เรื่องราวเรื่องเล่า

วัดม่อนปู่ยักษ์ หรือ วัดม่อนสัณฐาน มีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย เป็นวัดที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เช่นเดียวกับวัดพม่าทั่วไปในล้านนาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา มีอาคารหลัก 3 หลัง คือ กุฏิไม้ศิลปะพม่า วิหาร อุโบสถซึ่งสร้างอย่างก่ออิฐถือปูนโบราณ

วัดม่อนปู่ยักษ์ ซึ่งน่าจะมีอายุราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วงปี พ.ศ.2425 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำนานกล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปโปรดสัตว์ พร้อมด้วยพระอรหันต์เผยแผ่พระพุทธศาสนา มาทางทิศบูรพานั้น ครั้งผ่านมาทางแว่นแคว้นแห่งหนึ่ง ก็ปรากฏมียักษ์ตนหนึ่ง ขัดขวางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ และได้ขับไล่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จผ่านมาทางป่าบ้านพระบาท จนถึงบริเวณป่าม่อนจำศีล ก็ไล่มาทันกัน

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดม่อนจำศีลท่ามกลางพระอรหันต์ ทรงเห็นว่า ยักษ์ตนนั้นน่าจะหยุดกระทำการขัดขวางเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงให้ยักษ์ ตนนั้นเข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้า ยักษ์ได้เกิดอัศจรรย์ปิติใจตนเอง จึงก้มลงกราบแทบพระบาท ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและขอบำเพ็ญศีลภาวนาที่ม่อนจำศีล

ครั้นเวลาล่วงเลยไปไม่นาน ยักษ์ตนนั้นตายลงและได้มาตายที่ม่อนปู่ยักษ์ อันอยู่ไม่ไกลจากม่อนจำศีล  ต่อมาได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทและรอยเท้ายักษ์บริเวณวัดพระบาท ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยสร้างวัดคร่อมรอยพระพุทธบาทเพื่อยกให้สูงขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

กองพุทธสถานกรมการศาสนาทำหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรเล่ม 8” พ.ศ. 2525 บันทึกว่าวัดม่อนปู่ยักษ์ ได้ก่อสร้างเมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2442 โดย พ่อเฒ่านันตาน้อย พ่อเฒ่านันตาไก่ พร้อมพี่น้องอีก 3 คน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2442 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 14.82 เมตร ยาว 14.82 เมตร อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ แบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก ศาลาการเปรียญและกุฏิไม้โบราณศิลปะพม่า ฝาผนังและเสาไม้สัก ประดับลวดลายลงรักปิดทอง เพดานติดกระจกและมีเจดีย์ฝีมือช่างพม่า พระประทานลงปิดทอง

หลักฐานอ้างอิงอีกประการหนึ่งคือ ในปี พ.ศ.2444 หรือ ค.ศ.1901 เป็นการศึกษาจาก หลักศิลาจารึก เป็นภาษาไทใหญ่คือ วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดย นายจองนันตาแกง มาจากรัฐฉาน ในประเทศพม่า เป็นผู้สร้างวัดสำเร็จเสร็จสิ้นครบรอบ 30 ปี ที่จองนันตาแกง จากบ้านมา ไม่มีใครรำลึกถึงท่านผู้นี้ และไม่มีใครรู้จักเลย ชื่อของผู้อื่นจึงได้รับการบันทึกในหนังสือของทางราชการ ที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงต่อมา

กล่าวกันว่า บริเวณรอบๆ วัดแห่งนี้เป็นต้นไม้มะขาม เมื่อถึงฤดูฝนมีพืชล้มลุกขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนในฤดูแล้งจะแล้งมาก พืชที่ยืนต้นอยู่ก็มีเพียงต้นใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะเป็นต้นมะขามเพราะทนความร้อนได้ดี และมีจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากัน เรียกว่า ป่าขาม

ปัจจุบันเรียกว่าชุมชนบ้านป่าขาม2 อ.เมืองลําปาง ด้วยเหตุที่มีต้นมะขามมากนี้เอง บรรดาพ่อค้าในสมัยนั้นจึงพากันอพยพมาตั้งรกรากเป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ป่านี้เป็นที่เลี้ยงช้าง โดยปล่อยให้ช้างหากินอาหารเอง เพราะมะขาม ก็เป็นอาหารของช้างด้วย มะขามเปียกนั้นเป็นยารักษาอาการป่วยของช้างด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1178 วันที่ 11 - 17 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์