วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ปลด บก.บางกอกโพสต์ ความตายสามัญของคนข่าวยุคสื่อคือธุรกิจ

จำนวนผู้เข้าชม Counter for tumblr

ม้การปลดอุเมส ปานเดย์ ออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  จะยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นการออกตามวาระเพราะใกล้สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือเป็นไปตามที่นายอุเมส ปานเดย์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค ส่วนตัว Umesh Pandey

“หากต้องยอมก้มหัวลง การยอมถูกปลดตำแหน่งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็ถือว่าแทบจะทำทั้ง 365 วัน หลังจากนี้ชีวิตของเขาคงจะไม่ลำบากเหมือนก่อน”

อันเป็นการขยายความคำว่า “ลดความเข้มข้นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล”

ขณะที่ ณ กาฬ เลาหะวิไลย รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) เครือโพสต์ บอกว่า อุเมสไม่ได้ถูกปลด เพียงแต่ถูกย้ายให้มาเป็นผู้ช่วย COO เครือโพสต์ เนื่องจากปัญหาการบริหารงานในตำแหน่ง บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกขอให้ลดโทนการตรวจสอบรัฐบาลทหารแต่อย่างใด

จุลสารราชดำเนิน ซึ่งรายงานเรื่องนี้ ระบุว่า ณ กาฬเล่าว่า เขาเป็นคนขอให้บอร์ดเครือโพสต์ปลดอุเมสตั้งแต่ปลายปีก่อน หลังพบการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่ในบอร์ดกลับเห็นว่าควรจะให้โอกาส เพราะอุเมสเองก็จะหมดสัญญาจ้าง 2 ปี ในเดือนกรกฏาคมนี้อยู่แล้ว ที่สำคัญในเวลานั้นยังหาคนมาแทนไม่ได้

เขาอธิบายต่อมาว่า สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คือหน้าหนึ่ง นสพ.บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 11 พ.ค. ที่รายงานผลการเลือกตั้งของมาเลเซียแล้วพาดพิงมาถึงไทย ซึ่ง ณ กาฬ ถามว่า การโยง 2 เหตุการณ์เข้าหากัน เป็นธรรม หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่เครือโพสต์จะเชิญนายกรัฐมนตรีไทยมาร่วมงานครบรอบ 72 ปี ของ นสพ.บางกอกโพสต์

คำพูดของ ณ กาฬ เจือสมกับถ้อยคำของอุเมส ย่อมแปลได้ว่า อุเมส ออกเพราะการเมือง ไม่ได้ออกตามวาระ ส่วนประเด็นที่ว่า อุเมสใช้ชุดคำอธิบายเช่นนี้ เพื่อให้ตัวเองดูดีหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สำคัญคือ ผู้บริหารโพสต์ไม่ต้องการให้ข่าวการเมืองเข้มมากจนไปกระทบ หรือท้าทายอำนาจ ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้ เมื่อคิดในแบบธุรกิจ

โดยเฉพาะเมื่อโพสต์ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทย และอาจเป็นภาพตัวแทนความคิดของสังคมไทยไปสู่ต่างชาติ

หลายปีก่อนหน้านี้ โพสต์เคยไล่เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ ออกจากหัวหน้าข่าวฝ่ายทหารและความมั่นคง หลังจากที่เขาเสนอข่าว รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าว จนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ถูกฟ้อง เสริมสุขฟ้องโพสต์ต่อศาลแรงงานกลาง สู้คดีกัน 10 ปี ในที่สุดศาลฏีกามีคำพิพากษาว่า โพสต์เลิกจ้างเสริมสุขโดยไม่เป็นธรรม

กรณีอุเมส ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง แต่หากพิสูจน์ได้ว่า การปลดออกจากตำแหน่งก่อนวาระ คือการบีบให้ออกจากงาน อุเมสก็ฟ้องศาลแรงงาน ฐานเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้เช่นเดียวกัน

มีคนไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า เกี่ยวข้องกับการปลดอุเมส หรือไม่ เขาตอบว่า ไม่เกี่ยว ยังไม่รู้จักอุเมสเลย เป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องการบริหารกิจการสื่อ และถามถึงความเป็นกลางของสื่อ

“..ผมให้โอกาสสื่อดูแลกันเอง ก็ไปพิจารณากันสิว่า มันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม สื่อต้องไม่สร้างความขัดแย้ง ที่อ้างว่าอยู่ตรงกลางนั้น จะอยู่ตรงกลางกันได้อย่างไร ไม่ใช่รัฐบาลทำอะไรก็ผิดไปหมด แล้วแบบนี้จะอยู่กันได้อย่างไร ก็หวังในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นด้วย ถ้าสื่อสารสองทาง ติเพื่อก่อผมไม่ว่า..”

เราอาจคาดหมายได้ว่า คำตอบอาจจะออกมาในแนวนี้ ซึ่งหากรัฐบาลเกี่ยวข้องจริง นายกรัฐมนตรีสั่งการจริง หรือขอร้องผู้บริหารบางกอกโพสต์จริง เราจะได้ความจริงหรือไม่

กรณีนี้อาจคล้ายกับการลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายข่าว PPTV ของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งอาจอนุมานเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการลาออกของวันชัย เกิดขึ้นหลังจาก คสช.เชิญผู้บริหารสถานีไปหารือเรื่องบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของวันชัย ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว และความเข้มข้นในการตรวจสอบรัฐบาลทาง PPTV เช่นกรณี นาฬิกาบิ๊กป้อม ทั้งที่เป็นการเสนอข่าวเช่นเดียวกับช่องอื่นๆ และไม่ได้แปลว่าผู้อำนวยการฝ่ายข่าว จะเข้าไปสั่งการเรื่องข่าวในรายละเอียดทุกเรื่อง

เรื่องการใช้อำนาจปลด บีบ กดดัน ผู้บริหารข่าวของสื่อผ่านบอร์ดหรือเจ้าของนั้น เป็นปกติของผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการถูกรบกวนจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และก็เป็นความยินยอมของผู้บริหารสถานี เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ

เจ้าของสถานี บอร์ดบริหาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือคนในกองบก.ความรับผิดชอบของพวกเขาคือความมั่นคงทางธุรกิจ ขณะที่คนในกองบก.คล้ายแม่น้ำสองสาย สายหนึ่งก็ไหลไปตามกระแส เพราะเขาก็ต้องอยู่รอดเช่นเดียวกัน คนที่ยังคิดว่าการทำงานแบบตรงไปตรงมา และตระหนักว่าหน้าที่คือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ก็ต้องเลือกไปทำหน้าที่ในสื่อเล็กๆ ที่ปลอดการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก

แน่นอนว่า ผู้บริหารสื่อที่ขลาดกลัวต่ออำนาจ ย่อมน่าอดสู แต่ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา เพราะบทบาทหน้าที่ ความจำเป็นที่บังคับแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เมื่อยังมีพื้นที่ที่จะแสดงความรับผิดชอบ และการทำงานในเชิงอุดมการณ์ ก็เดินหน้ากันต่อไป เพราะถึงอย่างไร ความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อสื่อ ย่อมยั่งยืนกว่าสื่อที่สยบยอมต่ออำนาจ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1179 วันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์