วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561

21 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กลับไม่ได้ (ยัง)ไปไม่ถึง



จำนวนผู้เข้าชม

ภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  องค์กรวิชาชีพหลักที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มีอายุครบ 21 ปีแล้วในวันที่ 4 กรกฏาคมนี้ เป็นระยะทางเดินที่ใกล้เคียงกับอายุของ “ลานนาโพสต์” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเดียวของจังหวัดลำปาง ที่เป็นองค์กรสมาชิก

การตัดสินใจสมัครเป็นองค์กรสมาชิก ของหนังสือพิมพ์ในภูมิภาคฉบับหนึ่ง ในเบื้องต้น อาจเป็นความหวังและตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานการทำงานของหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัด ซึ่งมักมีคำถามถึงเนื้อหา และภาพที่ละเมิดจริยธรรมอยู่เสมอ เช่น ภาพลามก อนาจาร ภาพศพ ภาพที่เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทั้งหลาย

และความตั้งใจนั้น ก็เป็นจริง เมื่อนโยบายชัดเจนว่า ลานนาโพสต์จะไม่นำเสนอข่าวและภาพ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่นำเสนอข่าวและภาพอาชญากรรมที่หมิ่นเหม่ หรือเป็นการซ้ำเติมชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ ไม่เสนอข่าวและภาพที่มุ่งตอบสนองเพียงสัญชาติญาณความอยากรู้ อยากเห็นของมนุษย์ แต่ขาดความรับผิดชอบ  

นโยบายและการปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่แสดงข้อความอย่างหนึ่ง แต่การกระทำกลับไปอีกทางหนึ่ง และนี่อาจเป็นจุดแข็ง และจุดอ่อนของหนังสือพิมพ์ภูมิภาคในเวลาเดียวกัน ในขณะที่สื่อส่วนกลางซึ่งส่วนใหญ่มีบทบาทสำคัญในการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กลับไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

ที่ว่าเป็นจุดแข็ง ก็เนื่องเพราะเป็นกิจการขนาดเล็ก โครงสร้างไม่ซับซ้อน มีพนักงานไม่มาก การบริหารจัดการทำได้ง่าย การกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ จึงสอดคล้องกัน และเป็นไปอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร แต่ที่ว่าเป็นจุดอ่อนนั้น ก็คือ การที่ฝ่ายบริหารและกองบรรณาธิการ เกือบจะเป็นคนๆเดียวกัน  ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแยกแยะบทบาทกันให้ชัดเจนระหว่างฝ่ายรายได้ กับฝ่ายผลิตเนื้อหา

ฝ่ายบริหาร จะต้องบริหารรายได้ หาโฆษณา โดยยึดหลัก “ความเชื่อถือ” ในเนื้อหาเป็นสำคัญ มากกว่าการหารายได้ในลักษณะต่างตอบแทน หรือเปิดพื้นที่ในการโฆษณาชวนเชื่อแลกกับเงินหรือผลประโยชน์  ในจุดยืนเช่นนี้ กองบรรณาธิการจะต้องมีความเป็นอิสระสูง  และในสถานการณ์ที่ต้องแลกเอาระหว่าง “ผลประโยชน์” กับ “ความถูกต้องในหลักการ” หลักการต้องมาก่อนเสมอ

ขณะที่สื่อส่วนกลาง แม้โครงสร้างคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  จะออกแบบให้มีเจ้าของ ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ เป็นกรรมการส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริง กรรมการในฝ่ายเจ้าของนี้ ล้วนเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งสิ้น สภาพบังคับทางจริยธรรมที่จะเกิดขึ้นกับสื่อในองค์กรสื่อเหล่านั้นจึงเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกว่า แม้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะออกระเบียบข้อบังคับ คำเตือน แถลงการณ์หรือความพยายามใดๆที่จะให้สื่อทำงานโดยยึดหลักจริยธรรม แต่สื่อส่วนกลางก็มีการละเมิดหลักการนั้นบ่อยครั้ง เพราะการทำงานวันต่อวัน มิได้อยู่ภายใต้หลักการนี้ แต่เป็นการทำงานที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจ คือ การขายข่าว ขายภาพ มากกว่าจะคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

การทำงานวันต่อวันของกองบรรณาธิการ ขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ความอยู่รอดคือสิ่งสำคัญ การทำงานอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือแทบจะไม่ได้เชื่อมโยงกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเลย เพราะปัญหาของสื่อ อยู่ที่เจ้าของ นายทุนสื่อ ไม่ได้อยู่ที่กฎเกณฑ์นอกองค์กร ซึ่งนับวันความสำคัญจะลดลง

ถึงกระนั้น ก็ควรมีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ การมีองค์กรที่กำกับ ดูแลเรื่องจริยธรรมสื่อ ยังจำเป็นต่อโลก แต่ต้องมีวิธีการใหม่ๆ ที่จะให้มาตรการทางสังคม เป็นตัวกำกับการทำงานของสื่อให้ได้ผล เช่น สร้างความเข็มแข็งให้กับผู้บริโภคในการปฎิเสธสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ   เช่น การมีกฎหมายบังคับและลงโทษเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับสื่อที่ละเมิดจริยธรรม

21 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังมีภารกิจมากมาย ที่ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน และเปิดกว้างยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น “ลานนาโพสต์” ในฐานะองค์กรสมาชิก ก็ยังยืนยันที่จะยึดหลักการ และข้อบังคับด้านจริยธรรม เป็นธงนำในการทำงานต่อไป
 
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1185 วันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์