วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มินิบุ๊ค‘ทรงพล’แบรนด์

จำนวนผู้เข้าชม .

ารทำให้เกิดขึ้นซึ่ง ห้องสมุดเคลื่อนที่ หรือ Mobile Library ของ ผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม อาจมิใช่สิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่นวัตกรรมที่น่าตื่นตา ตื่นใจ เพราะในประเทศไทย หลายองค์กร หลายหน่วยงาน ก็มี ห้องสมุดเคลื่อนที่เช่นนี้ ด้วยเป้าหมายต่างๆกันไป

ในหลายประเทศ เช่นในจังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ฮ่องกง อาร์เจนตินา อังกฤษ อินโดนีเซีย ฯลฯ  หรือแม้กระทั่งองค์กรสื่อใหญ่ ที่ “ม้าสีหมอก” เคยประจำการอยู่ ก็เคยมีโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ เคลื่อนไปให้ความรู้กับประชาชนในท้องถิ่นห่างไกล แต่ก็เลิกล้มไปไม่นานนัก เพราะเป้าหมายคือธุรกิจ มิได้มุ่งหวังที่จะให้ความรู้กับผู้คนอย่างแท้จริง

ดังนั้น ห้องสมุดเคลื่อนที่ ภายใต้การขับเคลื่อนของผู้ว่าฯทรงพล จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทาย และแสดงถึงความกล้าหาญของเจ้าของแนวคิด ที่จะกระตุ้นเตือน ปลูกฝังการรักการอ่านของคนในยุคดิจิทัลเฟื่องฟู  ในขณะเดียวกันก็อาจมีคำถามใหม่เกิดขึ้นว่า จะคุ้มค่าการลงทุนไม่ว่ามากหรือน้อย จะได้ประโยชน์ดังเจตนาหรือไม่  เมื่อผู้คนเลิกอ่านหนังสือแล้ว

ความเชื่อเช่นนี้ อาจพัดพามาตามกระแส ที่สังคมเห็นสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ทยอยล้มหายตายจากไปในห้วงระยะเวลา 2 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่คนสามารถรู้ความเป็นไปของโลกนี้ได้ทุกนาทีโดยผ่านสมาร์ทโฟน ที่เกือบทุกคนต่างมีในครอบครอง

แต่นั่นก็เป็นการคาดคะเน จากสิ่งที่เห็น ได้ยิน รวมทั้งการวิเคราะห์ วิจัย อย่างผิวเผินของนักวิชาการ ซึ่งไม่ได้มองปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น การล้มเหลวในการบริหารสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ไม่ได้ปรับแนวทางการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การเสนอข่าวในแนวที่เรียกว่า Investigative Reporting
แต่กลับเสนอข่าวซ้ำๆกับสื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ที่ล้ำหน้าไปแล้วหลายชั่วโมง  หนังสือพิมพ์จึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

เราเข้าใจผิดว่า คนเลิกอ่านหนังสือแล้ว ซึ่งความเข้าใจเช่นนั้น อาจมีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง ในกรณีหนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวซ้ำกับสื่ออื่นๆ หรือนิตยสารข่าวที่ไม่ได้วิเคราะห์ลึกไปกว่า ข่าวที่คนดู คนอ่านจากการวิเคราะห์ จากการเล่าข่าวที่เป็นรายการข่าวประเภทที่โทรทัศน์เกือบทุกช่องมีเหมือนกัน

หากแต่การติดตามข้อมูล ข่าวสารจากสื่อออนไลน์ วิทยุและโทรทัศน์ ไม่ได้ตอบโจทก์ในกรณีที่เป็นความรู้ทั่วไป ซึ่งมีหลากหลาย และสามารถเข้าถึงได้จากการอ่านหนังสือเล่ม ฉะนั้น ในขณะที่สังคมถูกทำให้เชื่อแบบเหมารวมว่า คนไม่อ่านหนังสือ ที่หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดกลางของประเทศ ก็ยังมีคนไปอ่านหนังสือ ไปใช้บริการ ในแต่ละวันจำนวนไม่น้อย

เช่นเดียวกับ ห้องสมุดเคลื่อนที่ของผู้ว่าฯทรงพล  ซึ่งม้าสีหมอกเรียกว่า “มินิบุ๊ค”  ล้อมาจากคำว่า “มินิบัส” ก็น่าจะเป็นเส้นทางแห่งความรู้ ที่ได้การตอบรับจากคนที่ต้องการแสวงหาความรู้ และมีความรู้ในแบบที่เขาต้องการ เช่น ในเรื่องการเกษตร การสาธารณสุข และเรื่องอื่นๆที่คนสนใจพอสมควร

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ปกติข้าราชการซึ่งมีอายุราชการเพียงปี สองปี ก็จะประคับประคองตัวให้รอด และเกษียณในตำแหน่งนั้น เช่น ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ให้มีเหตุที่ต้องพ้นตำแหน่งไปก่อนวาระ เพราะถ้าคิดอ่าน ทำโครงการต่างๆมากมาย โอกาสผิดพลาดย่อมมีอยู่ มีโอกาสที่จะได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

หลังโครงการสตรีท อาร์ต ที่เป็นกระแสดัง กับอีกหลายโครงการ รวมทั้งมินิบุ๊ค ได้สร้างแบรนด์ใหม่ สำหรับคนลำปาง ที่ดูจะห่างหายจากความหวังในตัวผู้ว่าราชการจังหวัดมาหลายยุคสมัย นั่นคือแบรนด์ ทรงพล ที่ถูกกระตุ้นเตือนด้วยเรื่องราวใหม่ๆอยู่เสมอ

ถัดจากมินิบุ๊คแล้ว “ม้าสีหมอก” อยากเห็น Digital Book Mobile อาจเป็นห้องสมุดดิจิตอลเคลื่อนที่โดดๆ หรือผสมผสานกับมินิบุ๊ค เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย  อาจลงทุนสูง แต่ก็จะได้ประโยชน์สูงเช่นกัน

ถ้างบหลวงไม่พอ ใช้แบรนด์ทรงพล ไปเจรจาขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ก็คงไม่ยากนัก

วันหนึ่ง เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว สตรีทอาร์ท มินิบุ๊ค และเรื่องราวต่างๆที่ทำไว้ให้กับคนลำปาง ก็จะมีแบรนด์ทรงพล ประทับอยู่ในใจพวกเขาตลอดไป



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1182 วันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์